รู้จัก หมากเม่า เบอร์รี่พันธุ์ไทย สุดยอดผลไม้พื้นบ้าน ประโยชน์เยอะ!

บทความนี้ SGE จะพาไปรู้จัก ผลไม้ขึ้นชื่อแดนอีสาน หมากเม่า ทองคำสีดำแห่งเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร มีประโยชน์ตั้งแต่รากจรดดอก หนึ่งในสุดยอดสมุนไพรของตำรับยาไทยที่ควรรู้จัก

พารู้จัก หมากเม่า ผลไม้ที่ได้ชื่อว่าทองคำสีดำแห่งเทือกเขาภูพาน

ชื่อท้องถิ่น : มะเม่า,ต้นเม่า (ภาคกลาง) หมากเม่า (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) หมากเม้า,บ่าเหม้า (ภาคเหนือ) เม่า,หมากเม่าหลวง (พิษณุโลก) มัดเซ (ระนอง) เม่าเสี้ยน (ลำปาง) เป็นต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Antidesma thwaitesianum Muell.Arg

ชื่อวงศ์ : PHYLLANTHACEAE (จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม)

ถิ่นกำเนิด : หมากเม่า มีด้วยกัน 170 กว่าชนิด โดยมีถิ่นกำเนิดและกระจายอยู่ในเขตร้อนของ อินเดีย แอฟริกา ออสเตรเลีย และหมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ในประเทศไทยสามารถพบหมากเม่าได้เพียงแค่ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ มะเม่าหลวง, มะเม่าสร้อย (มะเม่าขี้ตาควาย), มะเม่าไข่ปลา (มะเม่าทุ่ง, มะเม่าข้าวเบา), มะเม่าควาย (เม่าเขา, เม่าหิน, เม่าเหล็ก, ส้มเม่าขน), และมะเม่าดง ซึ่งพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย

พารู้จัก หมากเม่า ผลไม้ที่ได้ชื่อว่าทองคำสีดำแห่งเทือกเขาภูพาน

ลักษณะของต้นหมากเม่า

  • ลักษณะต้น : ต้นมะเม่า เป็นไม้ยืนต้นเนื้อแข็งที่มีอายุยืนยาว สูงประมาณ 5-10 เมตร แตกกิ่งก้านมาก กิ่งแขนงแตกเป็นพุ่มทรงกลม เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดถึง 4 คนโอบ มักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
  • ลักษณะใบ : เป็นใบเดี่ยว มีสีเขียวสด ผิวใบเรียบเป็นมันทั้งสองด้าน ใบออกหนาแน่นเป็นร่มเงาได้เป็นอย่างดี
  • ลักษณะดอก : ต้นหมากเม่า มีลักษณะดอกเป็นดอกแยกเพศกันอยู่คนละต้น โดยมีดอกขนาดเล็กสีขาวอมเหลือง ออกดอกเป็นช่อยาวตามปลายกิ่งและซอกใบ ช่อดอกคล้ายพริกไทย โดยต้นหมากเม่าจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน และสุกในเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน
  • ลักษณะผล : ผลมะเม่าเป็นทรงกลม ผลมีขนาดเล็กและเป็นพวง ในหนึ่งผลจะมีหนึ่งเมล็ด ผลดิบมีสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวเข้ม มีรสเปรี้ยว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและม่วงดำในที่สุด โดยผลสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยวและฝาด
Sponsored (โฆษณา)

ประโยชน์ของหมากเม่าที่ดีต่อร่างกาย

หมากเม่า อดีตพืชท้องถิ่นหัวไร่ปลายนาไร้ค่า สู่เจ้าของฉายาทองคำสีดำแห่งเทือกเขาภูพาน หรือ ไทยบลูเบอร์รี่ ที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ ตั้งแต่รากจรดใบ กินได้ทุกส่วน แถมมีสรรพคุณทางยาชั้นยอด

ประโยชน์ของหมากเม่าที่ดีต่อร่างกาย

สรรพคุณของหมากเม่า

  1. ผลหมากเม่าสุก มีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง ช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย และยังช่วยชะลอความแก่ชรา
  2. รสฝาดของผลหมากเม่าสุก จะมีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยยับยั้งไม่ให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมหรือเปราะง่าย
  3. รสขมของหมากเม่าจะมีสารแทนนิน (Tannin) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้เกล็ดเลือดจับตัวกันน้อยลง จึงมีส่วนช่วยป้องกันโรคหัวใจล้มเหลว
  4. ห้าส่วนของหมากเม่า (ผล, ราก, ต้น, ใบ, ดอก) ใช้ต้มดื่มเป็นประจำเป็นยาอายุวัฒนะได้
  5. น้ำหมากเม่าสกัดเข้มข้นใช้เป็นอาหารบำรุงสุขภาพได้ดีเหมือนน้ำลูกพรุนสกัดเข้มข้น มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ บำรุงสายตา และขับโลหิต
  6. ใบหมากเม่านำไปอังไฟแล้วนำมาประคบใช้รักษาอาการฟกช้ำดำเขียวได้
  7. ใบหมากเม่าสดนำมาตำใช้พอกรักษาแผลฝีหนองได้
  8. หมาเม่ามีศักยภาพในการช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันและยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV อีกด้วย (กัมมาลและคณะ, 2546)
  9. ผลหมากเม่าสุก มีสรรพคุณเป็นยาระบาย ช่วยบำรุงสายตา ช่วยฟอกโลหิต ช่วยขับเสมหะ
  10. ต้นและราก ช่วยแก้กษัย ช่วยขับโลหิต ขับปัสสาวะ ช่วยแก้มดลูกพิการ มดลูกอักเสบช้ำบวม ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี ช่วยขับน้ำคาวปลา ช่วยบำรุงไต แก้เส้นเอ็นพิการ และช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. หากใช้สรรพคุณของหมากเม่าในการรักษาโรคในรูปแบบสารสกัด ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง
  2. หากรับประทานมากจนเกินไปอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย และปวดท้องได้
Sponsored (โฆษณา)

เทคนิคปลูก หมากเม่า ให้โตสวย

เทคนิคปลูก หมากเม่า ให้โตสวย

วิธีการขยายพันธุ์

1.การเพาะเมล็ด

  • การหว่านเมล็ดลงในแปลงโดยตรง เตรียมดินก่อนหว่านเมล็ดพันธุ์ หลังหว่านแล้วคลุมแปลงด้วยวัสดุกันความชื้นจากดินระเหยออกเร็วเกินไป เช่น ฟางแห้ง หญ้าแห้ง เป็นต้น
  • เพาะในตะกร้าโดยเตรียมวัสดุส่วนผสม เช่น ทราย ดินร่วน แกลบเผา ให้พร้อมแล้วหว่านเมล็ดเม่าและกลบด้วยวัสดุเพาะอีกชั้นหนึ่ง รดน้ำสม่ำเสมอ
  • เพาะในกระบะ คล้ายเพาะในตะกร้าแต่จะได้ปริมาณมากกว่าทุกวิธี อาจใช้ระบบน้ำแบบพ่นหมอก พ่นฝอยโดยตั้งเวลาปิด – เปิด หรือรดน้ำด้วยสายยาง

2.การขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่ง

การขยายพันธุ์แบบทาบกิ่ง เป็นการขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศอีกวิธีหนึ่ง โดยนำต้นกล้าหมากเม่าที่ได้เพาะเมล็ดไว้จนได้ขนาดพอเหมาะต่อการทาบกิ่ง อายุประมาณ 6 เดือน – 12 เดือน มาทำให้เกิดแผล และให้ประกบกับกิ่งพันธุ์ดีที่ได้ทำแผลไว้แล้วเช่นกัน เพื่อให้เนื้อไม้ทั้งสองต้นประสานเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วจึงตัดยอดของต้นกล้าทิ้งไปเหลือส่วนโคนเอาไว้ ตัดโคนกิ่งพันธุ์ดีออกจากต้นแม่ให้เหลือแต่ยอดต้นตอเอาไว้ ซึ่งจะได้หมากเม่าที่มีลักษณะดี 2 ประการหลักๆ คือ ระบบรากแบบมีรากแก้วแข็งแรง ได้ยอดเป็นเม่าพันธุ์ดี เหมือนต้นแม่ทุกประการไม่เป็นต้นตัวผู้

3.การขยายพันธุ์แบบเสียบยอด

การขยายพันธุ์แบบเสียบยอด เป็นวิธีการขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศอีกวิธีหนึ่งที่ให้ลักษณะของหมากเม่าที่ดี เหมือนต้นแม่ทุกประการและไม่เป็นต้นตัวผู้ มีระบบรากแข็งแรงเหมือนขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด วิธีการคือ ตัดกิ่งพันธุ์จากต้นเม่าพันธุ์ดีที่มีขนาดพอเหมาะ คือ กิ่งมีสีเขียวที่ปลายและมีสีเทาหรือน้ำตาลที่โคนกิ่งประมาณ 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 2 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกิ่ง เท่ากับส่วนปลายของตะเกียบหรือ เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.4 – 0.6 เซนติเมตร ความยาวกิ่งพันธุ์ดี 30 เซนติเมตร โดยประมาณ ตัดใบออกจากโคนกิ่งถึงครึ่งกิ่ง ส่วนที่เหลือให้ตัดใบออกครึ่งใบยกเว้นยอด นำกิ่งนั้นมาเฉือนทำแผลแบบปาดหรือแบบฝานบวบ และเฉือนต้นตอเม่าเป็นแบบฝานบวบเช่นกัน ความยาวของแผลให้เท่ากันกับแผลของกิ่งพันธุ์ดี ด้วยมีดคัตเตอร์หรือมีดที่คม แล้วนำมาประกบกันให้พอดี แล้วพันรอยต่อด้วยพลาสติกใส หรือเชือกฟางให้แผลประกบกันแน่นพอดีไม่เลื่อนหรือโยกคลอน จากนั้นนำไปเก็บในโรงพลาสติกกันการคายน้ำมากเกินไป หรือถ้าปริมาณน้อยจะเก็บในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ ปิดปากถุงกันการคายน้ำมากเกินไป จนกว่าจะครบ 1 เดือนจึงทยอยเปิดพลาสติกคลุมออก

เทคนิคปลูก หมากเม่า ให้โตสวย

การปลูกหมากเม่า

หมากเม่าเป็นไม้ผลที่ปลูกง่าย ทนแล้ง ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณปลายเดือนเมษายน – มิถุนายน แต่ต้นหมากเม่า เป็นพืชที่ไม่ชอบดินที่มีน้ำขัง ข้อควรระวังคืออย่าให้ต้นหมากเม่าขาดน้ำหรือน้ำมีมากเกินไป เพราะทำให้ต้นพันธุ์หมากเม่าเจริญเติบโตไม่ทันปรับสภาพตัวเองไม่ทัน จะทำให้ต้นพันธุ์ตายได้

วิธีการปลูกต้นกล้า

  1. โดยขุดหลุมกว้าง+ยาว+ลึก ประมาณ 30+30+30 เซนติเมตร
  2. ระยะห่างระหว่างต้นกับแถวปลูกประมาณ 6+6 เมตร แยกดินบนดินล่าง
  3. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกประมาณ 3-4 กิโลกรัม ผสมกับปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 หรือปุ๋ยเกลือประมาณ 1-2 ช้อนแกง
  4. นำดินบนลงไปคลุกเคล้ากับปุ๋ยทั้งสองชนิดให้ได้ 2 ส่วนของหลุม
  5. จากนั้นนำต้นพันธุ์ลงปลูกโดยฉีกถุงดำออกตั้งตรงกึ่งกลางหลุม ปักยึดด้วยหลักไม้มัดให้แน่นกลบด้วยดินที่เหลือ รดน้ำให้ชุ่มพอประมาณ
  6. ควรป้องกันศัตรูที่มาทางรากคือ ปลวก เสี้ยนดิน หนอนเจาะโคนต้น ด้วยสารฟูราดานเม็ดสีม่วงโรยบนหน้าดินแล้วพรวนดินกลบ หรือผสมน้ำลาดรอบโคนต้น ซึ่งสารเคมีชนิดนี้ป้อง กันศัตรูพืชได้ทั้งในดินและอากาศ

วิธีปลูกกิ่งพันธุ์

  1. กิ่งพันธุ์ทาบกิ่งหรือเปลี่ยนยอดปลูกแล้วประมาณ 1 เดือน ให้นำมีดมาตัดผ้าพลาสติกที่พันยึดกิ่งพันธุ์ออก ถ้าไม่นำออกจะทำให้รอยพันพลาสติกรัดกิ่งพันธุ์และหักได้ภายหลัง
  2. หลังจากนั้นควรใส่ปุ๋ยคอกขี้ไก่ที่หรือปุ๋ยเคมีตามความจำเป็น
  3. ในช่วงฤดูแล้งควรหาเศษวัชพืชคลุมโคนต้นเพื่อป้องกันการคลายน้ำจากผิวดิน ส่วนในฤดูฝนควรกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นให้โล่งเตียนอยู่เสมอ เพราะหมากเม่ามีเปลือกรสหวานศัตรูประเภทหนอนแทะเปลือกและเจาะลำต้นจะระบาดในช่วงนี้

เมื่อปลูกได้ประมาณปีที่ 2 จะติดผลให้ได้ชิม ถ้าดูแลรักษาให้ดีเมื่อต้นหมากเม่ามีอายุย่างเข้าปีที่ 3 แล้วควรเปลี่ยนปุ๋ยคอกผสมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 จำนวน 2-3 กำมือต่อต้นต่อปี และให้เพิ่มจำนวนปุ๋ยมากขึ้นตามอายุของต้นหมากเม่าด้วย ซึ่งพืชจะสามารถนำแร่ธาตุไปบำรุงทั้งดอกและผล นอกจากนี้เพื่อเตรียมอาหารที่จะให้ติดผลในอนาคต เมื่อเก็บผลผลิตแล้วควรแต่งกิ่งให้ต้นโปร่งปีละ 1 ครั้ง

เทคนิคปลูก หมากเม่า ให้โตสวย

โรคและศัตรูหมากเม่า

  • โรคโคนเน่าและรากเน่า ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อรา ที่เกิดจากความชื้นแฉะของน้ำที่ท่วมขังในที่ราบลุ่ม ทำให้โคนหรือรากเน่า แก้ไขโดยระบายน้ำออกอย่าให้น้ำท่วมขังหรือชื้นแฉะและพ่นด้วยสารเคมีจำพวกป้องกันเชื้อรา
  • หนอนเจาะลำต้นและกิ่ง ทำให้ท่อน้ำ ท่ออาหารขาด ต้นจะเหี่ยวและใบเหลือง แห้งตายกะทันหัน ลำต้นจะหักพับลง หนอนชนิดนี้ระบาดได้ตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูแล้งหลังจากหมดฤดูฝน ป้องกันโดยตัดแต่งกิ่งให้โปร่งอยู่เสมอ ให้แสงแดดส่องถึงโคนต้น ถ้าพบรอยแตกหรือมีรูเจาะบริเวนโคนต้นหรือลำต้นให้สารเคมีกำจัดหนอนและแมลงฉีดพ่นตรงบริเวณที่พบ จะทำให้ตัวหนอน และดักแด้ตาย ทาโคนต้นหรือลำต้นด้วยสารกำจัดแมลงที่มีกลิ่นฉุนเช่น น้ำมันเครื่องเก่า และใช้สารเคมีประเภทดูดซึมรวยรอบโคนต้นแล้วพรวนดินกลบเช่น ฟูราดาน

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับต้นหมากเม่าที่ SGE นำเสนอ พืชท้องถิ่นที่กำลังจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีแรงอุปสงค์มากกว่าอุปทานน่าจับตามอง แถมเจ้าต้นนี้นับได้ว่ามีประโยชน์สรรพคุณทางยาได้ทั้งต้น ปลูกง่ายทนแดดทนแล้ง แถมนำไปแปรรูปได้หลายอย่างทีเดียว!

Sponsored (โฆษณา)