ภาชนะทำจากแป้งทดแทนพลาสติกเพิ่มมูลค่าพืชเศรษฐกิจ ผลิตภาชนะลดปริมาณขยะพลาสติกลดโลกร้อน

          นักวิจัย มก.ประสบผลสำเร็จผลิตพลาสติกจากพืชเศรษฐกิจไทย เช่น ข้าวโพด ข้าวเจ้า มันสำปะหลัง ค้นพบวิธีเปลี่ยนแป้งเป็นพลาสติก ผลิตบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารได้หลายชนิด ย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกและภาวะโลกร้อน
          กระแส ตื่นตัวเรื่องการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน โดยคิดค้นและผลิตวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ ล่าสุดนักวิจัยจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประสบผลสำเร็จในการผลิตพลาสติกที่ทำจากแป้งในวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์
          ดร.รังรอง ยกส้าน หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นวัตกรรมวัสดุชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ นักวิจัยพลาสติกจากแป้งในวัตถุดิบทางการเกษตร กล่าวว่า พลาสติกที่คิดค้นขึ้นใหม่ทำจากแป้งที่ได้จากพืชเศรษฐกิจไทยหลายชนิด เช่น ข้าวโพด ข้าวเจ้า มันสำปะหลังและถั่ว พลาสติกประเภทนี้เรียกว่าพลาสติกชีวฐาน หรือพลาสติกที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต ย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ โครงการวิจัยเริ่มตั้งแต่ปี 2549 ได้รับทุนวิจัยจาก ม.เกษตรศาสตร์และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) วัตถุประสงค์คือ นำแป้งจากพืชมาผ่านกระบวนการเปลี่ยนรูปเป็นพลาสติกที่สามารถใช้งานทดแทน พลาสติกจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

 ดร.รังรอง กล่าวว่า ผลการวิจัยได้นำไปยื่นขอจดสิทธิบัตรแล้ว 3 เรื่องคือ
1.วิธีการนำแป้ง จากพืชมาผลิตเม็ดพลาสติก 2.การนำเม็ดพลาสติกจากแป้งมาผสมกับพอลิแล็กติกแอซิด (PLA) หรือเม็ดพลาสติกสังเคราะห์ย่อยสลายได้ 3.กระบวน การและเทคนิคการขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น ถุง จานรองแก้ว ถาด ถ้วยและช้อน เป็นต้น
“ผลการวิจัยพบว่า แป้งที่ได้จากข้าวเจ้า ข้าวโพดและมันสำปะหลัง เมื่อนำมาเข้ากระบวนการเปลี่ยนรูปเป็นพลาสติกจะมีคุณสมบัติในด้านความเหนียว ยืดหยุ่นและคงทน สามารถใช้งานบรรจุหีบห่อได้สะดวก แต่มีสีทึบกว่าพลาสติกทั่วไป ขณะนี้มีบริษัทผลิตพลาสติกให้ความสนใจและต้องการนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ซึ่ง สามารถทำได้จริง พลาสติกที่ทำจากพืชเศรษฐกิจของไทยมีข้อดีคือ นอกเหนือจากช่วยลดปริมาณขยะในสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีต้นทุนการผลิตถูกและสามารถแข่งขันกับพลาสติกทั่วไปในตลาดได้ เพราะผู้บริโภคในปัจจุบันคำนึงถึงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
          นักวิจัยพลาสติกจากแป้งในวัตถุดิบทางการเกษตรกล่าวอีกว่า พลาสติกทั่วไปที่มีแหล่งกำเนิดจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม แม้จะมีข้อดีหลายประการ เช่น ความแข็งแรง น้ำหนักเบาและราคาถูก แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าพลาสติกชนิดนี้ไม่สามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ ส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะใช้วิธีกำจัดโดยการรีไซเคิลหรือการฝังกลบ การเผา ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ดังนั้นจึงผลิตพลาสติกจากวัสดุสิ่งมีชีวิต เช่น พืชเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาการตกค้างของขยะพลาสติก แก้ปัญหาภาวะโลกร้อน รวมทั้งช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพราะพลาสติกจากพืชไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

“พลาสติก นี้ทำจากแป้งข้าวโพด แป้งข้าวเจ้าและแป้งมันสำปะหลังเป็นส่วนผสมหลัก โดยสามารถเลือกใช้พืชชนิดเดียวหรือหลายชนิดก็ได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตในตลาด นอกจากนี้ยังใส่สารเติมแต่ง เช่น น้ำตาลจากอ้อย และกรดไขมันจากพืชและสัตว์ เพื่อช่วยเพิ่มคุณสมบัติการเกาะตัวของส่วนผสมให้เข้ากันได้ดี คงรูปได้เป็นเวลานาน ทนความร้อนและโดนน้ำได้โดยไม่เปลี่ยนรูป” ดร.รังรองกล่าว
คณะนักวิจัยโครงการดังกล่าวประกอบด้วย ดร.รังรอง ยกส้าน ดร.อำพร เสน่ห์ และ ผศ.ดร.น้ำฝน ลำดับวงศ์ จากภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บุกเบิกงานวิจัยเพื่อพัฒนาพลาสติกชีวฐานจากวัตถุดิบเกษตร ของประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ

ขอขอบคุณที่มาของบทความ : climatechange.jgsee.org