อาหารสุขภาพในปัจจุบัน มีหลากหลายมากมาย หนึ่งในนั้น คือ “ข้าวไรซ์เบอร์รี่ (Rice berry)” ถือเป็นอาหารหลักคู่คนไทยมาช้านาน มีสีม่วงเข้ม เม็ดเรียวยาว มันวาว กลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ แถมยังมีประโยชน์ดี ๆ ต่อสุขภาพมากมายเลยทีเดียว และระหว่างข้าวไรซ์เบอร์รี่ และ ข้าวกล้อง ทานแบบไหนดีกว่ากัน?

บทความนี้ SGE จะพาไปรู้จักประโยชน์ดี ๆ ของข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่บอกเลยว่า ต้องหามาทานด่วน ๆ เลยจ้า

ประโยชน์และสรรพคุณของข้าวไรซ์เบอร์รี่

ข้าวไรซ์เบอร์รี่มีประโยชน์มากกว่าที่คิด ด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย จึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายด้าน เช่น

ประโยชน์ด้านสุขภาพ

  • มีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย ลดการอักเสบ ซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย
  • ช่วยลดน้ำหนัก ทำให้อิ่มท้องได้นานขึ้น เพราะมีดัชนีน้ำตาลต่ำ ย่อยช้า
  • มีกากใยอาหาร ช่วยระบบขับถ่าย และควบคุมคอเลสเตอรอลในร่างกาย ป้องกันโรคหัวใจ
  • มีธาตุสังกะสี และ วิตามินอี ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เต่งตึง สดใส ดูอ่อนวัย เสริมสร้างคอลลาเจน ซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ และฟื้นฟูบำรุง
  • มีสารเบต้าแคโรทีน และลูทีน ช่วยบำรุงดวงตา ป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อม
  • มีธาตุเหล็ก ช่วยบำรุงเม็ดเลือด ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง ป้องกันมะเร็งบางชนิด ดีต่อหญิงสาวที่มีประจำเดือน ช่วยบรรเทาและลดภาวะซึมเศร้าได้
  • มีโฟเลตสูง เหมาะกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะการตั้งครรภ์เป็นพิษ ช่วยสร้างและบำรุง DNA ลดความเสี่ยงภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ของลูกอีกด้วย

ประโยชน์ด้านอื่น ๆ

  • นิยมใช้ข้าวไรซ์เบอร์รี่ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ชา กาแฟ เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นขนมจีน เป็นต้น
  • นิยมนำไปเป็นส่วนผสมในขนมต่าง ๆ เช่น คุกกี้ ขนมครก ขนมปัง เป็นต้น
  • ใช้เป็นส่วนผสมอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูหมัก ผลิตภัณฑ์ไซรัปเข้มข้น หรือ เครื่องดื่มจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นต้น
Back to top

รวมคำถามที่หลายคนสงสัย

1) ทานข้าวไรซ์เบอร์รี่ทานแล้วไม่อ้วน จริงหรือไม่?

อย่างที่รู้กันว่าในข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีสารแกมมาโอไรซานอล ที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาล และลดคอเลสเตอรอล เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เมื่อทานเข้าไปแล้วร่างกายจะย่อยเป็นน้ำตาลได้ช้า ทำให้อิ่มนาน ไม่หิวเร็ว ลดการทานจุกจิก และยังมีไฟเบอร์ที่สูง ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

2) ข้าวไรซ์เบอร์รี่เหมาะกับใคร?

เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคนรักสุขภาพ สามารถจำแนกออกเป็นกลุ่ม ดังนี้ อ่านเพิ่มเติม

  • ผู้สูงวัย ควรทานข้าวไรซ์เบอร์รี่ ช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยบำรุงการไหลเวียนของเลือด ชะลอความแก่ บำรุงสายตา และระบบประสาท
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคอ้วน ควรทานข้าวไรซ์เบอร์รี่ ช่วยควบคุมน้ำตาล และน้ำหนักได้ เพราะมีดัชนีน้ำตาลที่ต่ำกว่าข้าวทั่ว ๆ ไป
  • ผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ควรทานข้าวไรซ์เบอรี่เป็นประจำ เพื่อช่วยในการบำรุงโลหิต บำรุงร่างกายให้แข็งแรง
  • สตรีมีครรภ์ ควรทานข้าวไรซ์เบอร์รี่ สามารถป้องกันโรคปากแหว่งเพดานโหว่เด็กในครรภ์ได้ เพราะข้าวไรซ์เบอรี่มีสารโฟเลต มีน้ำตาลต่ำ ช่วยควบคุมน้ำหนักไม่ให้ครรภ์เป็นพิษ และมีธาตุเหล็กสูง

3) ข้าวไรซ์เบอร์รี่ vs ข้าวกล้อง แบบไหนดีกว่ากัน?

ฟันธงว่า ข้าวทั้ง 2 ชนิด สามารถควบคุมน้ำหนักได้เหมือนกัน อยู่ที่ความชอบ เพราะอุดมไปด้วยประโยชน์ และสัมผัสในการกิน อาจจะแตกต่างกันเล็กน้อย โดยข้าวไรซ์เบอร์รี่ จะมีความเหนียบหนึบ คล้ายข้าวเหนียว ส่วนข้าวกล้อง จะกรุบกรอบ มีรสไม่หนักมาก แต่ข้าวไรซ์เบอร์รี่จะพิเศษกว่าข้าวกล้อง คือ มีพฤกษาเคมีสีม่วง หรือแอนโทไซยานิน ที่มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระนั่นเอง อ่านเพิ่มเติม

โดยข้าว 2 แบบนี้แตกต่างกัน คือ ข้าวกล้อง เป็นการเรียกข้าวทุก ๆ สายพันธุ์ ที่กะเทาะเอาส่วนเปลือก (แกลบ) ออกไป และยังเหลือส่วนจมูกข้าว และเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวไว้ ส่วน ข้าวไรซ์เบอร์รี่ คือ ข้าวเกษตรอินทรีย์สายพันธุ์ใหม่

4) ข้าวไรซ์เบอร์รี่ กับ ข้าวก่ำ คือพันธุ์เดียวกันไหม?

คำตอบคือ คนละสายพันธุ์กัน โดยความแตกต่างของ ข้าวก่ำ มีดังนี้ อ่านเพิ่มเติม

ข้าวก่ำ หรือข้าวเหนียวดำ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ข้าวที่ถูกลืม ภาคกลาง และทั่ว ๆ ไป จะเรียก ข้าวเหนียวดำ ส่วนภาคเหนือ และอีสาน จะเรียก ข้าวก่ำ เป็นข้าวพื้นเมืองของเอเชีย เมล็ดข้าวมีสีม่วงดำ เมื่อนำไปหุงสุก เนื้อเมล็ดค่อนข้างแข็ง เคี้ยวละเอียดยากกว่า นิยมทานในรูปของขนมหวานมากกว่าข้าวอื่น ๆ และใช้ในการทำไวน์ หมักทำสาโท เป็นต้น

Back to top

⭐⭐ หากชื่นชอบบทความของ SGE ⭐⭐

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ข้อมูลโภชนาการของข้าวไรซ์เบอร์รี่

ข้อมูลโภชนาการข้าวไรซ์เบอร์รี่ ปริมาณต่อ 100 กรัม

สารอาหาร ปริมาณ (หน่วย)
พลังงาน 390 กิโลแคลอรี่
คาร์โบไฮเดรต 80 กรัม
น้ำตาล 0 กรัม
ใยอาหาร 4 กรัม
ไขมัน 4 กรัม
โปรตีน 8 กรัม
วิตามินเอ หรือบีตาแคโรทีน 63 ไมโครกรัม
วิตามินบี 9 หรือโฟเลต 48 ไมโครกรัม
วิตามินอี 0.68 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 1.8 มิลลิกรัม
โซเดียม 50 มิลลิกรัม
สังกะสี 3.2 มิลลิกรัม

แหล่งข้อมูลประกอบ: จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Back to top

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ (Riceberry)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Oryza sativa

ชื่อสามัญ

Riceberry

กลุ่มพันธุ์ปลูก

ถิ่นกำเนิด

ศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ไรซ์เบอร์รี่ เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง ข้าวเจ้าหอมนิล (พันธุ์พ่อ) และ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 (พันธุ์แม่) มีลักษณะเป็นข้าวเจ้าสีม่วงเข้ม เมล็ดเรียวยาว ผิวมันวาว มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ รสชาติหวาน สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 130 วัน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของข้าวไรซ์เบอร์รี่

ลำต้น

เป็นข้าวท่า ความสูงของต้นประมาณ 105 – 110 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นโพรงตรงกลาง แบ่งออกเป็นปล้อง ๆ โดยมีข้อกั้นระหว่างปล้อง ความยาวของปล้องนั้จะแตกต่างกัน จำนวนปล้องจะเท่ากับจำนวนใบของต้นข้าว ปกติมีประมาณ 20 – 25 ปล้อง

ใบ

ใบของต้นข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีไว้สำหรับสังเคราะห์แสง เพื่อเปลี่ยนแร่ธาตุ อาหาร น้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นแป้ง เพื่อใช้ในการเจริญเติบโต และสร้างเมล็ดของต้นข้าว ใบประกอบด้วย กาบใบ และแผ่นใบ

เมล็ด

มีลักษณะเป็นเมล็ดเรียวยาว สีม่วงเข้ม ผิวมันวาว มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ความยาวของเมล็ดข้าวเปลือก 11 มิลลิเมตร ความยาวของข้าวกล้อง 7.5 มิลลิเมตร และความยาวของข้าวขัด 7.0 มิลลิเมตร

Back to top

สายพันธุ์ของข้าวไรซ์เบอร์รี่

ไรซ์เบอร์รี่ คือ ข้าวที่ผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง ข้าวเจ้าหอมนิล (พันธุ์พ่อ) และ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 (พันธุ์แม่) ดังนี้

ข้าวเจ้าหอมนิล + ข้าวขาวดอกมะลิ 105 = ข้าวไรซ์เบอร์รี่

1 ข้าวเจ้าหอมนิล

1 ข้าวเจ้าหอมนิล

ข้าวเจ้าหอมนิล คือ ข้าวที่มีสีดำโดยกำเนิด ไม่มีการย้อมสี มีรสชาติอร่อย มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่น แตกต่างจากข้าวสีอื่น มีคุณประโยชน์บางอย่างมากกว่าข้าวสีอื่น ๆ

2 ข้าวขาวดอกมะลิ 105

2 ข้าวขาวดอกมะลิ 105

ข้าวขาวดอกมะลิ 105 หรือ ข้าวหอมมะลิ 105 มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ คือ เมล็ดข้าวจะยาวเรียว สีขาวสวย มีกลิ่นหอมเหมือนใบเตย เมื่อหุงสุกยังคงมีกลิ่นหอม เมล็ดข้าวอ่อนนิ่ม มีรสชาติดี

Back to top

วิธีการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่

ข้าวไรซ์เบอร์รี่นั้น เป็นการปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ งดใช้ปุ๋ยเคมี การเลือกพื้นที่ปลูกที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูงตามธรรมชาติ จึงเป็นการเริ่มต้นที่ได้เปรียบ เพื่อที่จะรักษาระดับผลผลิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ มีขั้นตอนดังนี้

  • ขั้นตอนที่ 1 เตรียมแปลงปลูกข้าว

    การเลือกพื้นที่ปลูกข้าวที่ดี ที่ดินจะต้องมีความอุดมสมบูรณ์สูงตามธรรมชาติ การเตรียมแปลงปลูกข้าว ทำได้ดังนี้

    • การไถดะ ใช้รถแทรกเตอร์ พลิกหน้าดิน ตากดินให้แห้ง การคลุกเคล้าฟาง วัชพืชลงไปในดิน ปล่อยทิ้งไว้ ประมาณ 1 สัปดาห์
    • การไถแปร เป็นการไถครั้งที่ 2 หลังจากที่ไถดะ และตากดินไว้แล้วระยะหนึ่ง เพื่อจะพลิกดินกลับขึ้นมาอีกครั้ง
    • การคราด หรือใช้ลูกทุบ เป็นการกำจัดวัชพืช ทำให้ดินแตกตัว และเป็นเทือก พร้อมปักดำ หรือหว่านได้ ขั้นตอนนี้ต้องมีการขังน้ำไว้ระยะหนึ่งแล้ว เพื่อให้มีสภาพดินที่เหมาะสมในการคราด
  • ขั้นตอนที่ 2 การให้ปุ๋ย

    งดการใช้ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์ทุกชนิด และนำปุ๋ยอินทรีย์จากธรรมชาติมาใช้อย่างสม่ำเสมอ เช่น

    • การใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ควรใส่ก่อนการไถดะ ประมาณ 1 เดือน อัตรา 300 – 500 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วไถกลบไปพร้อมกับการไถครั้งแรก
    • ปุ๋ยน้ำหมัก เป็นปุ๋ยน้ำที่ได้จากการย่อยสลายเศษวัสดุเหลือใช้จากส่วนต่าง ๆ ของพืช หรือสัตว์ โดยผ่านกระบวนการหมักในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน ผสมน้ำหมักชีวภาพกับน้ำสะอาด ในอัตราส่วน 1:20 เริ่มให้ปุ๋ยเมื่อพืชเริ่มงอก หรือก่อนที่แมลงจะมารบกวน 2 สัปดาห์/ครั้ง ใช้ได้กับพืชทุกชนิด ควรฉีดในตอนเช้า หรือหลังฝนตก และควรให้อย่างสม่ำเสมอ
    • ปุ๋ยพืชสด ใส่ก่อนการปักดำข้าวในระยะเวลาพอสมควร และไถกลบต้นปุ๋ยพืชสดก่อนการปลูกข้าวตามกำหนดเวลา เช่น โสนอัฟริกัน (Sesbania  rostrata) ควรปลูกก่อนปักดำข้าวประมาณ 70 วัน โดยใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ประมาณ 7 กิโลกรัมต่อไร่ หากจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัส ช่วยเร่งการเจริญเติบโต แนะนำให้ใช้หินฟอสเฟตบดละเอียด ใส่ในช่วงตอนเตรียมดิน แล้วไถกลบต้นโสนขณะมีอายุประมาณ 50 – 55 วัน หรือก่อนการปักดำข้าวประมาณ 15 วัน

    หากดินมีความอุดมสมบูรณ์ไม่เพียงพอ หรือขาดธาตุอาหารที่สำคัญบางชนิดไป สามารถนำอินทรียวัตถุจากธรรมชาติ ทดแทนปุ๋ยเคมีบางชนิดได้ คือ อ่านเพิ่มเติม

    • แหล่งธาตุไนโตรเจน (N) เช่น แหนแดง สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว กากเมล็ดสะเดา เลือดสัตว์แห้ง กระดูกป่น เป็นต้น
    • แหล่งธาตุฟอสฟอรัส (P) เช่น หินฟอสเฟต กระดูกป่น มูลไก่ มูลค้างคาว กากเมล็ดพืช ขี้เถ้าไม้ สาหร่ายทะเล เป็นต้น
    • แหล่งธาตุโพแทสเซียม (K) เช่น ขี้เถ้า และหินปูน บางชนิด
    • แหล่งธาตุแคลเซียม เช่น ปูนขาว โดโลไมท์ เปลือกหอยป่น กระดูกป่น เป็นต้น
  • ขั้นตอนที่ 3 การเพาะเมล็ด + การปลูก

    นำเมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และ พันธุ์ข้าวหอมสยาม มาแช่ในน้ำสะอาดนาน 1 คืน หรือไม่เกิน 12 ชั่วโมง อย่าแช่น้ำนานเกิน อาจทำเน่าเสียหาย เพาะไม่งอกได้ จากนั้น นำขึ้นมาแช่ต่อในน้ำเชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตราส่วนเชื้อสด 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ขยี้เอาเฉพาะสปอร์สีเขียว แช่นาน 30 นาที และนำไปบ่มต่อเป็นเวลา 2 คืน

    การปลูกแบบปักดำ อ่านเพิ่มเติม

    • ใช้ต้นกล้าข้าวไรซ์เบอร์รี่ อายุประมาณ 21 วัน
    • ก่อนการปักดํา 1 อาทิตย์ ควรปล่อยน้ำเข้าแปลง เพื่อให้ดินนุ่ม เมื่อจะปักดํา ระบายน้ำออกให้เหลือ ประมาณ 10 เซนติเมตร
    • เมื่อปักดำต้องมีน้ำเพียงพอในแปลงนา ประมาณ 10 เซนติเมตร แต่ไม่น้อยกว่า 5 – 7 เซนติเมตร และไม่เกิน 30 เซนติเมตร หรือสูงเกินต้นกล้าที่ปักดำอาจลอยน้ำได้
    • ระยะห่างของการปักดำ คือ 25×25 เซนติเมตร หรือ 30×30 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับพื้นที่ดิน ถ้าดินดีควรดำห่าง เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นข้าวล้มทับกัน
    • การจับต้นกล้าสําหรับปักดํา ถ้าเป็นต้นกล้าแก่ให้จับ 1 – 2 ต้น ควรปักดําให้รากจมดินประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร ถ้าปักดําลึก จะทําให้ต้นข้าวแตกกอช้า แต่ถ้าปักดําตื้น ต้นข้าวจะลอยน้ำ
    • ขณะปักดำให้บีบดินระหว่างหัวแม่มือและนิ้วชี้ให้แน่น เพื่อให้ข้าวเกาะยึดติดกับดิน และควรปักดําให้เป็นแถว เพื่อง่ายต่อการดูแล และการกําจัดวัชพืช
  • ขั้นตอนที่ 4 การจัดการน้ำในแปลงนา

    • ควรทำคันดินให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า 1 เมตร (วัดที่ฐาน) และสูงเกินกว่าระดับน้ำปกติ เพื่อป้องกันน้ำจากแปลงนาเคมีข้างเคียงที่จะไหลเข้ามาปนเปื้อน
    • ควรปลูกไม้พุ่ม หรือไม้ยืนต้นบนคันนา เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในไร่นา
    • ควบคุมระดับน้ำในระยะ 7 วันแรกหลังการปักดำ ให้มีความสูงเกือบท่วมต้นข้าว
    • เมื่อข้าวเริ่มแตกกอให้ปล่อยน้ำเข้านา และรักษาระดับน้ำที่ 15-20 เซนติเมตร ถ้าน้ำสูงเกินไปต้นข้าวจะแตกกอไม่ดี
    • เมื่อข้าวเริ่มตั้งท้อง ให้ระบายน้ำออกจากนา เหลือน้ำระดับเจอพื้น
    อ่านเพิ่มเติม

    คำแนะนำ: ในกรณีที่น้ำฝนไม่เพียงพอ หรือต้องการแหล่งน้ำสำรอง ควรขุดบ่อน้ำกว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร ลึก 3 เมตร (ใช้พื้นที่ประมาณ 2 งาน) จะสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการทำนาได้ประมาณ 10 ไร่ ถ้าหากน้ำในแปลงนามีน้อย (เจือพื้น) จะทำให้หญ้าขึ้นเร็วในพื้นที่นาน้ำฝน หากน้ำแห้ง จะทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ หรือชะงักการเจริญเติบโต แต่ถ้าอยู่ในเขตชลประทาน ควรสูบน้ำเข้าแปลงทุก ๆ 7 วัน

  • ขั้นตอนที่ 5 การเก็บเกี่ยว

    • เมื่อดอกข้าวบาน และมีการผสมเกสรแล้ว 1 สัปดาห์ ภายในจะเริ่มเป็นแป้งเหลวสีขาว
    • สัปดาห์ที่ 2 แป้งเหลวนั้นจะแห้งกลายเป็นแป้งค่อนข้างแข็ง
    • สัปดาห์ที่ 3 แป้งก็จะแข็งตัวมากยิ่งขึ้นเป็น รูปร่างของเมล็ดข้าวกล้อง
    • สัปดาห์ที่ 4 ข้าวจะเก็บเกี่ยวได้นับจากวันที่ผสมเกสร เมล็ดข้าวจะแก่พร้อมเก็บเกี่ยวได้หลังจากออกดอกแล้วประมาณ 28 – 30 วัน

    หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ควรนำมาตากบนลานตากข้าว เพื่อทำการลดความชื้นในเมล็ดข้าวให้ลดลงเหลือประมาณ 13% หรือตากแดดประมาณ 3 – 5 แดด อ่านเพิ่มเติม

    ควรให้เมล็ดข้าวโดนแดดอย่างทั่วถึง นำมาบรรจุกระสอบ เก็บในสถานที่สะอาดปิดมิดชิดแยกจากข้าวขาว หรือข้าวชนิดอื่น ๆ เพื่อป้องกันการปนเปื้อน
Back to top

⭐⭐ หากชื่นชอบบทความของ SGE ⭐⭐

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

แนะนำเมนูข้าวไรซ์เบอร์รี่

เมนูข้าว ไรซ์เบอร์รี่ ทำได้หลากหลายเมนู ตามไปจดสูตร แล้วไปเข้าครัวพร้อม ๆ กันเลย

1 ข้าวไรซ์เบอร์รี่อบธัญพืช

1 ข้าวไรซ์เบอร์รี่อบธัญพืช

วัตถุดิบ

  • ข้าวสารข้าวไรซ์เบอร์รี 1 ถ้วย
  • ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลทราย 1ช้อนชา
  • น้ำสต๊อกไก่ 1+1/2 ถ้วย
  • เกลือสมุทร 1/4 ช้อนชา
  • กระเทียมสับละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
  • ถั่วแดง ต้มสุก 1/4 ถ้วย
  • ข้าวโพดหวาน 1/4 ถ้วย
  • เม็ดถั่วลันเตาต้มสุก 1/4 ถ้วย
  • เผือกนึ่ง หั่นเต๋า 1/4 ถ้วย
  • น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำข้าวไรซ์เบอร์รี่อบธัญพืช

1) ตั้งกระทะ ใส่น้ำมัน ใช้ไฟกลาง พอน้ำมันร้อน ใส่กระเทียมลงผัดพอหอม ตามด้วยถั่วแดง ข้าวโพด และเม็ดถั่วลันเตา ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว และน้ำตาล ผัดให้เข้ากัน เตรียมไว้ อ่านเพิ่มเติม

2) ซาวข้าวไรซ์เบอร์รี 1 ครั้ง ใส่ข้าวลงในหม้อหุงข้าวพร้อมเครื่องที่ผัดเตรียมไว้ ตามด้วย ใส่น้ำสต๊อกไก่ และเกลือ คนให้ทั่ว พอข้าวใกล้สุก ใส่เผือก หุงต่ออีก 2-3 นาที จนสุก ตักข้าวอบธัญพืชใส่ถ้วย พร้อมเสิร์ฟ

2 ซุปข้าวไรซ์เบอร์รี่

2 ซุปข้าวไรซ์เบอร์รี่

วัตถุดิบ

  • ข้าวไรซ์เบอร์รีหุงสุก 1+1/2 ถ้วย
  • เนื้ออกไก่ 100 กรัม
  • เนยสดรสจืด 30 กรัม
  • หอมใหญ่สับละเอียด 1/4 ถ้วย
  • กระเทียมจีนสับละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำสต๊อกไก่ 2 ถ้วย
  • วิปปิ้งครีม 1/4 ถ้วย
  • นมสดชนิดจืด 3/4 ถ้วย
  • เกลือป่น 1 ช้อนชา
  • พริกไทยดำป่น 1/4 ช้อนชา
  • พาร์มีซานชีสขูด 1 ถ้วย
  • น้ำเปล่า สำหรับลวกไก่
  • พาร์สเลย์สับหยาบ สำหรับตกแต่ง
  • ขนมปังบาร์แกตต์ทาเนย สำหรับจัดเสิร์ฟ

วิธีทำซุปข้าวไรซ์เบอร์รี่

1) ตั้งหม้อ ใส่น้ำเปล่า ใช้ไฟกลาง พอน้ำเดือด ใส่เนื้ออกไก่ลงลวกจนสุก ตักขึ้น พักบนให้เย็นลง ฉีกเป็นเส้น เตรียมไว้ อ่านเพิ่มเติม

2) เตรียมตั้งหม้ออีกใบ นำเนยละลาย ใส่หอมใหญ่ และกระเทียม ผัดจนสุกหอม ใส่น้ำสต๊อกไก่ วิปปิ้งครีม นมสด และข้าวไรซ์เบอร์รี่ คนให้เข้ากัน ต้มพอเดือด ปรุงรสด้วยเกลือ และพริกไทย รอให้เดือดอีกครั้ง ปิดเตา

3) นำข้าวที่ต้ม เทใส่โถปั่น ปั่นจนเนียนเข้ากัน เทซุปใส่หม้อใบเดิม ใส่พาร์มีซานชีสขูด คนให้เข้า ประมาณ 10-15 นาที จนซุปข้น ปิดเตา ตักใส่ถ้วย เสิร์ฟพร้อมขนมปังบาร์แกตต์ทาเนย พร้อมทาน

3 ไอศกรีมข้าวไรซ์เบอร์รี่

3 ไอศกรีมข้าวไรซ์เบอร์รี่

วัตถุดิบ

  • ข้าวสารไรซ์เบอร์รี่ 1 ถ้วย
  • น้ำเปล่า 2 ถ้วย
  • ใบเตย 4 ใบ
  • กะทิกล่อง 2 ถ้วย
  • น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วย
  • เกลือสมุทร 1 ช้อนชา
  • พิมพ์ไอศกรีมซิลิโคน
  • ไม้ไอศกรีม สำหรับเสียบ

วิธีทำไอศกรีมข้าวไรซ์เบอร์รี่

1) ตั้งหม้อ ใส่น้ำ ใช้ไฟกลาง ใส่ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และใบเตยลงต้ม หมั่นคนเพื่อให้ข้าวติดก้นหม้อ ต้มข้าวจนสุก 20 – 25 นาที ปิดเตา ตักใส่ตะแกรง พักให้สะเด็ดน้ำ อ่านเพิ่มเติม

2) เตรียมต้มกะทิ ใช้ไฟกลางค่อนข้างอ่อน พอเดือด ใส่น้ำตาล และเกลือ คนให้ละลาย ใส่ข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่เตรียมไว้ลงไป ต้มให้พอเดือดอีกครั้ง ปิดเตา พักไว้ให้เย็น

3) นำไปเทใส่พิมพ์ เสียบไม้ไอศกรีม แช่ในตู้เย็นช่องแช่แข็ง ประมาณ 4-5 ชั่วโมง หรือจนแข็ง เมื่อครบเวลา นำออกจากช่องแช่แข็ง แกะออกจากพิมพ์ พร้อมทาน

Back to top

เป็นอย่างไรกันบ้างกับ ประโยชน์ดี ๆ ของ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่นำมาฝากกัน มีมากมายเหลือเกิน เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ข้าวที่ต้องหามาทานให้ได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม การทานอาหารให้หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ถือเป็นเรื่องดีต่อร่างกาย เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพของร่างกายนั่นเอง

ลำดวน: ดอกไม้ที่สดใส กับหัวใจที่เบิกบาน