เมนูของหวานไทยโบราณ

3,494 Views

คัดลอกลิงก์

10 เมนูของหวานไทยโบราณ สืบสานอนุรักษ์ มรดกความเป็นไทย

เมนูของหวานไทยโบราณ มีเสน่ห์และหน้าตาสวยงาม สื่อถึงฝีมืออันประณีตและมรดกทางวัฒนธรรมที่รุ่รวยมาตั้งแต่อดีต แต่ด้วยกาลสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้หาทานได้ยากขึ้นทุกวัน

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่หลงใหลในของหวานไทยโบราณ แล้วอยากสืบสานวิธีการทำ เพื่อไม่ให้มันสูญหายไป SGE รวมสูตร เมนูของหวานไทยโบราณ มาให้ได้ลองทำตามกัน ในแบบฉบับที่ทำได้ง่าย ๆ เองที่บ้าน รับรองว่า อร่อยถูกต้องตามตำรา แถมรสชาติยังหวานอร่อย ถูกใจทุกคนในครอบครัวแน่นอน

ขนมทองเอก

เมนูของหวานไทยโบราณ

ขนมนามมงคล ในตระกูลทอง เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่อดีต และเป็นขนมอีกชนิดหนึ่งที่ดัดแปลงมาจากขนมของชาวตะวันตก ด้วยความโดดเด่นไม่เหมือนใคร ทั้งในเรื่องรูปลักษณ์ที่มีสีเหลืองทองสวยงาม มีทองคำเปลวอยู่ด้านบน รวมถึงยังมีความหมายว่า การเป็นที่หนึ่ง ทำให้เป็นหนึ่งใน เมนูของหวานไทยโบราณ ที่มักใช้ประกอบ พิธีมงคล สำคัญต่างๆ หรือ ใช้มอบเป็น ของขวัญ ในงานฉลองการเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง เพื่อเปรียบเสมือนเป็นคำอวยพร ให้กับผู้ที่ได้รับด้วย

ส่วนผสม

  • แป้งเค้ก 2 ถ้วยตวง
  • แป้งทองหยอด 2 ถ้วยตวง
  • ไข่แดง (ไข่ไก่) 6 ฟอง
  • ไข่แดง (ไข่เป็ด) 6 ฟอง
  • ถั่วทอง 250 กรัม
  • กะทิ 500 กรัม
  • น้ำตาลทราย 500 กรัม
  • สีผสมอาหารสีเหลือง 3 – 4 หยด
  • กลิ่นมะลิ 1 กรัม
  • เทียนอบ และ ทองคำเปลว

วิธีทำ

  1. ตั้งหม้อ ใส่กลิ่นมะลิลงในกะทิ แล้วเทกะทิลงในหม้อ ตามด้วยน้ำตาลทราย เปิดไฟกลางค่อนไฟอ่อน คนให้น้ำตาลทรายละลายเข้ากัน เสร็จแล้ว เติมเกลือลงไป ต้มและหมั่นคนไปเรื่อย ๆ จนกว่าน้ำกะทิจะเดือด
  2. พอน้ำกะทิเดือด จนมีฟองเล็ก ๆ ปุดขึ้นมา มีลักษณะเนื้อเนียนละเอียดแล้ว ให้ปิดไฟ แล้วคนต่อไปเพื่อให้น้ำกะทิคลายร้อน จนเริ่มอุ่นลง
  3. เทน้ำกะทิลงในเครื่องปั่น จากนั้น ใส่ถั่วทอง ไข่แดง ทั้งไข่เป็ด ไข่ไก่ ลงไป แล้วปั่นส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน จนเนื้อละเอียด
  4. เมื่อปั่นเสร็จแล้ว ให้เทกลับใส่หม้อต้ม ใส่สีผสมอาหารสีเหลืองลงไป 3 – 4 หยด คนให้ละลายเข้ากัน และกวนน้ำกะทิต่อเรื่อย ๆ จนกว่าจะเดือด
  5. เมื่อน้ำกะทิเดือดและเริ่มข้นดีแล้ว ให้ร่อนแป้งเค้กและแป้งทองหยอดผ่านกระชอนลงไปในหม้อ กวนไปเรื่อย ๆ จนกว่าแป้งจะจับตัวกับกะทิ กลายเป็นเนื้อแป้งขนมเนียนนุ่ม เป็นก้อนเดียวกัน เสร็จแล้ว ตักแป้งขนมขึ้นมาพักไว้ในภาชนะ ให้แป้งขนมเย็นตัวลงไป
  6. ตักผงแป้งส่วนหนึ่ง มาเคลือบในแม่พิมพ์ขนมทองเอก ตามลายที่ตนเองชอบ เพื่อกันแป้งขนมติด เสร็จแล้ว ใช้มือปั้นแป้งขนมเป็นก้อนกลม ใส่ลงในแม่พิมพ์ แล้วเคาะออก ให้ได้เป็นรูปร่างตามที่ต้องการ
  7. นำทองคำเปลวแผ่นเล็ก มาติดไว้ด้านบนขนมให้สวยงาม เป็นอันเสร็จ

ดูวิธีทำ ขนมทองเอก เพิ่มเติมคลิก

⭐⭐ หากชื่นชอบบทความของ SGE ⭐⭐

ตู้อบลมร้อน ตู้อบเบเกอรี่

ขนมอินทนิล

ของหวานไทยโบราณ

ขนมอินทนิล เป็นเมนูของหวานไทยโบราณ ที่แต่ก่อนจะทำทานกัน เฉพาะในรั้วชาววังกันเท่านั้น เพราะใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นส่วนผสมหลัก ซึ่งแต่ก่อนจะต้องนำเข้ามา จึงทำให้คนทั่วไปไม่สามารถหารับประทานได้ง่าย ๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยสูตรที่สืบทอดต่อกันมา หากใครจะทำทานเองก็ไม่ยากแล้ว เพียงแค่ทำตามสูตรที่เรานำมาฝาก ก็จะได้ลิ้มรสของหวานโบราณตำรับชาววังที่บ้านแบบง่าย ๆ ได้แล้ว

ส่วนผสมแป้งขนม

  • แป้งมัน 150 กรัม
  • น้ำตาลทรายขาว 1/4 ถ้วยตวง
  • น้ำใบเตย 4 ถ้วยตวง (ใบเตย 10-15 ใบ+ น้ำเปล่า 4 ถ้วยตวงครึ่ง แล้วกรองให้ได้น้ำใบเตย 4 ถ้วยตวง )
  • น้ำแข็งป่น

ส่วนผสมน้ำกะทิ

  • หัวกะทิ 450 กรัม
  • น้ำเปล่า 400 กรัม
  • น้ำตาลทราย 1 ถ้วยตวง
  • เกลือป่น 1 ช้อนชา
  • มะพร้าวอ่อนหั่นเส้น 2 ลูก
  • เทียนอบขนม
  • ใบเตยมัด (ใบเตย 4 – 5 ใบ มัดให้เป็นปม)

วิธีทำ

  1. ทำน้ำใบเตย โดยนำใบเตย 10 – 15 ใบ ใส่เครื่องปั่น จากนั้น ใส่น้ำเปล่า 4 ถ้วยตวงครึ่ง ใส่ลงไป ปั่นให้เข้ากันจนละเอียด เสร็จแล้ว นำมากรองผ่านกระชอน เอาแต่น้ำใบเตย ให้ได้ปริมาณ 4 ถ้วยตวง
  2. ใช้ช้อนขูดเอาเนื้อมะพร้าวออกมา เสร็จแล้ว หั่นให้เป็นเส้นเล็ก ๆ
  3. ตั้งหม้อ ใส่หัวกะทิ น้ำเปล่า น้ำตาลทราย เกลือป่น ใบเตยมัด คนให้ละลายเข้ากัน จากนั้น เปิดไฟอ่อน คอยหมั่นคนเป็นระยะ ๆ จนกว่าน้ำกะทิจะร้อนได้ที่
  4. พอเริ่มมีไอร้อนขึ้นมาแล้ว ให้ใส่เนื้อมะพร้าวหั่นเส้นลงไป ต้มต่อไปอีกจนกว่าน้ำกะทิจะเดือด พอมีฟองปุดขึ้นมารอบ ๆ ให้ปิดแก็ส พักน้ำกะทิไว้ให้เย็นลง
  5. ทำน้ำกะทิอบควันเทียน โดยจุดไฟเทียนอบให้ไหม้โชนทั้ง 2 ด้าน จากนั้น วางลงในถ้วยพิมพ์ขนมแบบฟอยล์ ใส่ลงในหม้อต้มน้ำกะทิ แล้วปิดฝา อบควันเทียนน้ำกะทิเป็นเวลา 30 นาที
  6. ทำแป้งขนม โดยเตรียมชามผสมใส่แป้งมัน ผสมกับน้ำใบเตย คนให้น้ำใบเตยและแป้งมันละลายเข้ากัน
  7. จากนั้น กรองผ่านกระชอนลงไปในหม้อต้ม เปิดไฟอ่อน ใช้ไม้พายกวนแป้งไปเรื่อย ๆ จนกว่าแป้งจะข้นมันและมีสีเขียวใสขึ้น เสร็จแล้ว เติมน้ำตาลลงไป คนให้ละลายเข้ากัน เมื่อแป้งข้นเหนียวได้ที่ดีแล้ว ให้ปิดแก็ส พักแป้งไว้ให้เย็นตัวลง
  8. จัดเสิร์ฟ ตักน้ำกะทิใส่ถ้วยพร้อมมะพร้าวหั่นเส้น แล้วใช้ช้อน ตักแป้งขนมเป็นชิ้นเล็ก ๆ หยอดลงไปตามที่ต้องการ โปะด้วยน้ำแข็งใสไว้ด้านบน เป็นอันเสร็จ

ดูวิธีทำ ขนมอินทนิล เพิ่มเติมคลิก

⭐⭐ หากชื่นชอบบทความของ SGE ⭐⭐

กระถางผ้า กระถางผ้าปลูกต้นไม้
กระถางผ้า กระถางผ้าปลูกต้นไม้

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ขนมบุหลันดั้นเมฆ

เมนูของหวานไทยโบราณ

ขนมไทยโบราณชนิดนี้ มีมานานตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จากเหตุการณ์ทรงมีพระสุบิน เห็นดวงจันทร์ลอยออกจากก้อนเมฆ จนกลายเป็นที่มาของบทเพลง บุหลันลอยเลื่อน อันไพเราะ และการประดิษฐ์ เมนูขนมหวานไทยโบราณ ที่ชื่อว่า บุหลันดั้นเมฆ ในเวลาต่อมา  ซึ่งสีสันของขนมนั้น ก็สอดคล้องกับเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางตัวขนมที่ทำจากไข่แดง สื่อถึงดวงจันทร์ที่ส่องสว่างในเวลากลางคืน และส่วนสีฟ้าของตัวขนมก็เปรียบเหมือนสีของก้อนเมฆในยามค่ำคืน ทำให้เป็นขนมไทยที่มีสีสันสวยงามไม่เหมือนใคร

ส่วนผสมแป้งขนม

  • แป้งข้าวเจ้า 110  กรัม
  • แป้งถั่วเขียว 50  กรัม
  • แป้งมันสำปะหลัง 20 กรัม
  • น้ำลอยดอกมะลิ 500 กรัม
  • น้ำตาลทราย 120  กรัม
  • ดอกอัญชัน 10-15 ดอก

ส่วนผสมหน้าไข่แดง

  • ไข่ไก่ใช้แต่ไข่แดง 6  ฟอง
  • น้ำตาลทรายบดละเอียด 30 กรัม
  • น้ำตาลปี๊บ 20 กรัม

วิธีทำ

  1. ตั้งหม้อ เปิดไฟกลาง วอร์มให้กระทะร้อนแล้ว ใส่น้ำลอยดอกมะลิลงไป ตามด้วยน้ำตาลทราย คนให้น้ำตาลทรายละลายเข้ากัน
  2. นำดอกอัญชัน มาเด็ดก้านเขียวออก จากนั้น จุ่มกับน้ำร้อนเล็กน้อย เพื่อดึงให้สีของดอกอัญชันออกมา เสร็จแล้ว นำไปใส่ในหม้อต้มน้ำเชื่อมที่มีน้ำร้อนจัด คนไปเรื่อย ๆ จนกว่าน้ำเชื่อมจะเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำเงิน
  3. เตรียมชามผสม ใส่แป้งข้าวเจ้า แป้งถั่วเขียว แป้งมัน จากนั้น ค่อย ๆ เติมน้ำเชื่อมดอกอัญชันลงไป นวดผสมให้เข้ากัน จนกว่าเม็ดแป้งจะละลายดี ไม่ติดกันเป็นเม็ด และเป็นแป้งเหลวที่มีลักษณะข้นกำลังดี
  4. นำถ้วยตะไลที่จะจัดเสิร์ฟ ไปนึ่งในซึ้งนึ่งเตรียมไว้ พอร้อนได้ที่แล้ว ให้หยอดแป้งเหลวลงไป ให้เต็มถ้วย ใช้เวลานึ่ง 2 – 3 นาที ระหว่างนี้ ให้ตอกไข่ไก่ แยกเอาเฉพาะไข่แดง ใส่ลงในชามผสม จากนั้น ใส่น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทราย คนส่วนผสมทุกอย่างให้ละลายเข้ากัน เพื่อทำตัวหน้าไข่แดง
  5. พอครบเวลาแล้ว ให้นำถ้วยตะไลออกมา เทน้ำแป้งที่ยังไม่แห้งออก จากนั้น หยอดเอาไข่แดงลงไปในรูตรงกลาง เสร็จแล้ว นึ่งต่อด้วยไฟแรงอีก 5 – 10 นาที เป็นอันเสร็จ

ดูวิธีทำ ขนมบุหลันดั้นเมฆ เพิ่มเติมคลิก

⭐⭐ หากชื่นชอบบทความของ SGE ⭐⭐

เครื่องซีลสูญญากาศ จาก SGE การันตีด้วยยอดขายอันดับ 1

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ขนมกง

เมนูของหวานไทยโบราณ

ขนมกง เชื่อกันว่าเป็น เมนูของหวานไทยโบราณ ที่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานคำให้การของขุนหลวงหาวัดประดู่ทรงธรรม ที่บอกว่า “ย่านป่าขนม ชาวบ้านนั้นทำขนมขาย และนั่งร้านขายขนมชะมด กงเกวียน ภิมถั่ว สำปะนี” โดยขนมกงเกวียนยังถือว่าเป็นขนมมงคลชนิดหนึ่ง เพราะมีลักษณะเป็นวงกลมและมีเส้นไขว้พาดกันคล้ายรูปล้อเกวียน มีความหมายถึงการหมุนไปข้างหน้า หรือการก้าวไปข้างหน้า เช่นเดียวกับพระธรรมจักร จึงนิยมใช้ในพิธีแต่งงาน เพื่อความเป็นสิริมงคล แทนความหมายให้คู่บ่าวสาวครองคู่อยู่ชั่วนิจนิรันดร์

ส่วนผสม

  • ไข่แดง (ไข่ไก่) 1 ฟอง
  • แป้งสาลีอเนกประสงค์ 100 กรัม
  • แป้งข้าวเหนียว 1/4 ถ้วย
  • ถั่วเขียว 240 กรัม
  • เกลือป่น 2 กรัม
  • น้ำมันพืช 25 กรัม
  • น้ำเปล่า 250 กรัม
  • กะทิ 300 กรัม
  • น้ำตาลทราย 160 กรัม
  • น้ำตาลปี๊บ 60 กรัม
  • งาขาวคั่ว 50 กรัม

วิธีทำ

  1. ตอกไข่ไก่ แยกเอาเฉพาะไข่แดง ออกมา 1 ฟอง
  2. เตรียมชามผสม ใส่แป้งสาลีอเนกประสงค์ เกลือป่น น้ำมันพืช จากนั้น ใช้มือนวดส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน ให้แป้งเริ่มจับตัว เสร็จแล้ว ให้เติมไข่แดงลงไป นวดต่อ แล้วค่อย ๆ เติมน้ำเปล่า ๆ ลงไป ใช้ตะกร้อมือกวนไปเรื่อย ๆ จนกว่าได้จะแป้งเหลวเนื้อเนียนข้น เป็นเนื้อเดียวกัน
  3. ตั้งกระทะ ใส่ถั่วเขียวลงไป คั่วในกระทะ จนกว่าถั่วเขียวจะมีสีเหลือง จากนั้น นำถั่วเขียวใส่เครื่องปั่น ปั่นให้ละเอียด
  4. ตั้งกระทะใหม่ เปิดไฟอ่อน ใส่กะทิ น้ำตาลทรายและน้ำตาลปี๊บ คนให้น้ำตาลละลายเข้ากัน
  5. พอน้ำตาลละลายดีแล้ว ให้ใส่ถั่วเขียวป่นลงไป ตามด้วยแป้งข้าวเหนียว กวนส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน จนกว่าแป้งจะจับตัวเป็นก้อนเนื้อเนียนนุ่ม พอแป้งได้ที่แล้ว ให้ใส่งาขาวคั่วลงไป นวดคลุกเคล้าให้เข้ากัน
  6. แบ่งแป้งออกมา ปั้นเป็นแท่ง แล้วรีดให้ได้เป็นก้อนยาว ๆ หนาประมาณ 1 นิ้ว จากนั้น ม้วนเป็นวงกลมเล็ก ๆ แล้วปั้นแท่งยาวสั้น ๆ อีก 2 แท่ง ติดลงไปเป็นรูปกากบาท ทำอย่างนี้เหมือนกันทุกชิ้น จนกว่าจะหมด
  7. นำแป้งที่ปั้นไว้ ไปชุบกับแป้งเหลวที่ทำไว้ตอนแรก ๆ จากนั้น นำลงไปในทอดในน้ำมันร้อนจัดจนเหลืองกรอบ เสร็จแล้ว ตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำมัน เป็นอันเสร็จ

ดูวิธีทำ ขนมกง เพิ่มเติมคลิก

⭐⭐ หากชื่นชอบบทความของ SGE ⭐⭐

กระถางผ้า กระถางผ้าปลูกต้นไม้
กระถางผ้า กระถางผ้าปลูกต้นไม้

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ขนมสัมปันนี

ของหวานไทยโบราณ

ขนมสัมปันนี คล้ายกับขนมกง คือ มีที่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นขนมแห้งชนิดหนึ่งที่มีวางขายอยู่ในย่านป่าขนม โดยแต่ก่อนสะกดว่า ขนมสำปะนี ก่อนจะเพี้ยนมาเป็น สัมปันนี เหมือนในปัจจุบัน ทั้งนี้ เป็นขนมนละชนิดกับขนม “อาลัว” หรือ “อารัว” โดยความโดดเด่นของมันคือ ทำมาจากแป้งมันคั่ว คลุกเคล้ากับน้ำตาลและกะทิเคี่ยวยางมะตูม แล้วนำไปอบควันเทียน ทำให้มีกลิ่นหอมกรุ่น รสชาติละมุนลิ้นไม่เหมือนใคร ซึ่งการจะทำให้มีความสวยงามนั้น สามารถใส่ผงสีจากผัก แทนสีผสมอาหารแทนได้ เหมือนในสูตรที่นำมาฝาก ซึ่งใช้ผงใบเตยแทนสีเขียว ผงฟักทองแทนสีเหลือง ผงแครอทแทนสีส้ม ผงมันม่วงแทนสีม่วง เป็นต้น

ส่วนผสม

  • แป้งมันสำปะหลัง 400 กรัม
  • กะทิ 400 กรัม
  • น้ำตาลทรายขาว 180 กรัม
  • เกลือป่น ½ ช้อนชา
  • ผงใบเตย, ฟักทอง , แครอท ,มันม่วง แต่งสี อย่างละ 1 – 2 ช้อนชา
  • พิมพ์ซิลิโคน (เลือกแบบฐานกว้างและไม่ลึกมาก จะแกะออกจากพิมพ์ได้ง่าย)

วิธีทำ

  1. ตั้งหม้อ เปิดไฟอ่อน ใส่แป้งมันสำปะหลังลงไป ค่อย ๆ ใช้ไม้พายกวนแป้งไปเรื่อย ๆ เพื่อไล่ความชื้นออก และทำให้แป้งเนื้อเนียนละเอียดขึ้น พอแป้งเนื้อเนียนละเอียด แสดงว่าสุกดีแล้ว ให้ปิดแก็ส พักแป้งให้เน็นตัวลง
  2. ตั้งหม้อใหม่ เปิดไฟอ่อน ใส่กะทิ น้ำตาลทรายขาว เกลือป่น คนให้ละลายเข้ากัน แล้วเคี่ยวไปเรื่อย ๆ จนกว่าน้ำกะทิจะข้นขึ้น คล้ายยางมะตูม
  3. พอน้ำกะทิได้ที่แล้ว ให้แบ่งน้ำกะทิออกมา 4 ส่วน ผสมกับผงใบเตย ฟักทอง แครอท มันม่วง เพื่อให้ได้สีตามที่ชอบ จากนั้น เทกรองผ่านกระชอน แล้วนำไปผสมกับแป้งมันสำปะหลัง นวดให้เข้ากัน จนกว่าจะได้แป้งเนื้อเนียนนุ่ม สีเขียว ส้ม เหลือง ม่วง ตามลำดับ
  4. โรยผงแป้งที่คั่วแล้ว ลงบนแม่พิมพ์รูปแบบต่าง ๆ ตามชอบ จากนั้น ปั้นแป้งขนมเป็นวงกลมแล้วอัดลงในแม่พิมพ์ เสร็จแล้ว เคาะออก เมื่อได้ขนมรูปร่างตามที่ต้องการแล้ว ให้ใส่ในหม้อ แล้วจุดไฟเทียนอบให้ลุกโชน ใส่ลงในหม้อแล้วปิดฝา อบควันเทียนเป็นเวลาอย่างน้อย 1 คืนเป็นอันเสร็จ

ดูวิธีทำ ขนมสัมปันนี เพิ่มเติมคลิก

ขนมโคกะทิ

เมนูของหวานไทยโบราณ

อีกหนึ่ง เมนูของหวานไทยโบราณ ที่ห้ามพลาด โดยถึงแม้จะไม่มีที่มาที่ชัดเจน แต่ด้วยความเชื่อว่าเป็นขนมมงคล นิยมใช้บนบานสิ่งศักด์สิทธ์ รวมถึงมีรสชาติที่อร่อย ถูกปากอีกเมนูหนึ่ง ทำให้เป็นขนมไทยโบราณที่ควรอนุรักษ์เอาไว้ ใครชอบทานขนมโค อย่าลืมนำสูตรนี้ไปลองทำตามกันดูนะ

ส่วนผสมแป้งสีขาว

  • แป้งข้าวเหนียว 1 ถ้วย
  • น้ำเปล่า 1/3 ถ้วย
  • หัวกะทิ 1 ช้อนโต๊ะ

ส่วนผสมแป้งสีม่วง

  • แป้งข้าวเหนียว 1 ถ้วย
  • น้ำเปล่า 1/3 ถ้วย
  • ดอกอัญชัน 10-15 ดอก (คั้นขยำกับน้ำ)
  • น้ำมะนาว 1 ช้อนชา
  • หัวกะทิ 1 ช้อนโต๊ะ

ส่วนผสมไส้มะพร้าว

  • มะพร้าวทึนทึกขูดเส้น 2 ถ้วย
  • น้ำตาลมะพร้าว 3/4 ถ้วย

ส่วนผสมน้ำกะทิ

  • หัวกะทิ 1 ½  ถ้วย
  • น้ำเปล่า 2/3 ถ้วย
  • น้ำตาลทราย 1/3 ถ้วย
  • เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
  • ใบเตยแก่ 3-4 ใบ

ส่วนผสมอื่น ๆ

  • เนื้อมะพร้าว
  • งาขาว

วิธีทำแป้งสีขาว

  1. เตรียมชามผสม ใส่แป้งข้าวเหนียว หัวกะทิ น้ำเปล่า นวดให้เข้ากัน จนได้เนื้อแป้งเนียนนุ่มเป็นก้อนเดียวกัน ไม่ติดมือ

วิธีทำแป้งสีม่วง

  1. นำดอกอัญชันมาขยำในน้ำเปล่า จนได้สีของดอกอัญชันออกมา จากนั้น นำไปกรองผ่านกระชอน แล้วใส่น้ำมะนาว 1 ช้อนชา
  2. เตรียมชามผสม ใส่น้ำอัญชัน ตามด้วยแป้งข้าวเหนียว หัวกะทิ น้ำเปล่า นวดให้เข้ากัน จนได้เนื้อแป้งเนียนนุ่มเป็นก้อนเดียวกัน ไม่ติดมือ

วิธีทำไส้มะพร้าว

  1. ตั้งกระทะ เปิดไฟ ใช้ไฟอ่อน ใส่น้ำตาลมะพร้าวลงไป เคี่ยวจนน้ำตาลมะพร้าวละลาย
  2. ใส่ไส้มะพร้าวขูดเส้นลงไป ผัดกับน้ำตาลมะพร้าวจนเข้ากัน พอเข้ากันดีแล้ว ให้ปิดไฟ พักให้เย็นสนิท แล้วแบ่งมาปั้นเป็นก้อนกลม หลาย ๆ ก้อน

วิธีทำน้ำกะทิ

  1. เตรียมหม้อต้ม ใส่หัวกะทิ น้ำเปล่า น้ำตาลทราย เกลือ เสร็จแล้ว นำไปตั้งไฟ ใช้ไฟอ่อน คนให้น้ำตาลละลาย
  2. ใส่ใบเตยลงไป เพื่อเพิ่มกลิ่นหอม ต้มต่อไปให้น้ำกะทิร้อนแค่พอมีควัน ห้ามต้มจนเดือด พอได้ที่แล้วให้ปิดไฟ พักไว้ให้เย็น

วิธีทำขนมโค

  1. ดึงแป้งสีขาวและแป้งสีม่วง ออกมาแผ่เป็นแผ่นบาง ๆ ใส่ไส้มะพร้าวไว้ด้านใน แล้วห่อแป้ง คลึงให้เป็นลูกกลม ๆ
  2. ต้มน้ำในหม้อให้เดือด ใส่แป้งแต่ละก้อนลงไป ต้มจนสุก ถ้าแป้งลอยขึ้นมา แสดงว่าสุกแล้ว ให้ตักขึ้นได้เลย
  3. ตั้งกระทะ นำงาขาวไปคั่วในกระทะให้มีกลิ่นหอม แล้วไปบดอย่างหยาบ ๆ
  4. นำเนื้อมะพร้าวมาหั่นเป็นเส้น ๆ
  5. จัดเสิร์ฟ ตักขนมโคใส่ชาม ตามด้วยเนื้อมะพร้าว ราดด้วยน้ำกะทิ โรยงาขาวคั่วไว้ด้านบน เป็นเสร็จ

ดูวิธีทำ ขนมโคกะทิ เพิ่มเติมคลิก

⭐⭐ หากชื่นชอบบทความของ SGE ⭐⭐

กระถางผ้า กระถางผ้าปลูกต้นไม้
กระถางผ้า กระถางผ้าปลูกต้นไม้

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ขนมดาราทอง

ของหวานไทยโบราณ

ขนมดาราทอง แม้ไม่ใช่ขนมไทยโบราณขนาดนั้น เพราะเพิ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นในสมัยจอมพล ป. แต่ด้วยความมีสีเหลืองทองสวยงาม ลักษณะคล้ายมงกุฏ มีแผ่นแป้งรอง รวมถึงมีทองคำเปลวติดอยู่ด้านบน รวมถึงยังมีความหมายดี สื่อถึงความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ความเป็นผู้นำ มียศถาบรรดาศักดิ์  ทำให้จัดเป็น เมนูของหวานไทยโบราณ ที่เหมาะสำหรับงานมงคลขึ้นบ้านใหม่ รวมทั้งยังเป็นของขวัญอวยพรผู้หลักผู้ใหญ่หรือเพื่อนฝูงในโอกาสเลื่อนยศ หรือเลื่อนตำแหน่งอีกด้วย

ส่วนผสม ฐานแป้ง (สำหรับรองขนม)

  • แป้งสาลีอเนกประสงค์ 1 ถ้วยตวง
  • ไข่แดงไข่ไก่ 1 ฟอง
  • น้ำเปล่า 1 ช้อนโต๊ะ

ส่วนผสม เมล็ดแตงโม

  • เมล็ดแตงโมแกะ ¼ ถ้วยตวง
  • น้ำเชื่อม ½ ถ้วยตวง
  • ทองคำเปลวตัดเป็นแผ่นเล็ก

ส่วนผสม ขนมทองเอก

  • ไข่แดงไข่ไก่ 5 ฟอง
  • แป้งสาลีอเนกประสงค์ 1 ถ้วยตวง
  • กะทิ 1+½ ถ้วยตวง
  • น้ำตาลทราย 1 ถ้วยตวง

วิธีทำฐานแป้งสำหรับรองขนม

  1. นวดแป้ง ไข่แดง และน้ำเปล่า พอแป้งนุ่ม แล้วจัดการคลึงแป้งให้เป็นแผ่นบาง ตัดเป็นแผ่นกลม ใส่ลงในถ้วยตะไล ใช้ไม้จิ้มให้ทั่ว
  2. นำเข้าเตาอบที่อุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส ประมาณ 20 นาที หรืออบจนแป้งเหลืองกรอบ นำแป้งออกจากถ้วย พักไว้

วิธีทำเมล็ดแตงโม

  1. นำกระทะทองตั้งไฟอ่อน ใส่เมล็ดแตงโมลงไป
  2. ใช้มือแตะน้ำเชื่อมแล้วพรมไปที่เมล็ดแตงโม กวาดน้ำเชื่อมกับเมล็ดแตงโมไปเรื่อย ๆ จนกว่าน้ำตาลจะเกาะที่เมล็ดแตงโมเป็นตะปุ่มตะป่ำ หรือเป็นหนาม พักไว้

วิธีทำขนมทองเอก

  1. ผสมไข่ไก่ แป้งสาลีอเนกประสงค์ กะทิ และน้ำตาลทราย ให้เข้ากัน
  2. นำส่วนผสมใส่กระทะ กวนด้วยไฟอ่อนที่สุดจนขนมไม่ติดมือ
  3. ปั้นทองเอกเป็นก้อนกลม ๆ ใช้ไม้จิ้มฟันกดเป็น 6 พู (6 แฉก) เตรียมไว้

วิธีทำประกอบขนม

  1. ติดเม็ดแตงโมโดยรอบแป้งรอง วางทองเอกด้านบนแล้วใช้ทองเอกปั้นเป็นเม็ดกลมเล็ก ๆ วางบนยอดมงกุฎ ติดแผ่นทองด้านบน
  2. นำไปจัดใส่จานให้สวยงาม พร้อมเสิร์ฟ

⭐⭐ หากชื่นชอบบทความของ SGE ⭐⭐

ถุงซีลสูญญากาศ

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🥺🙏🏻

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ขนมใส่ไส้

เมนูของหวานไทยโบราณ

ขนมใส่ไส้ หรือ ขนมสอดไส้ (Steamed flour with coconut filling) เป็นขนมไทยโบราณ มักใช้ในงานพิธีหมั้น เพื่อเป็น 1 ในขนม 9 อย่าง ที่ใส่ในขันหมากโทคู่ขันหมากเอก ในขบวนแห่ขันหมากเพื่อไปสู่ขอเจ้าสาว มีลักษณะเป็นขนมที่ใช้แป้งข้าวเหนียวขาวและแป้งข้าวเหนียวดำ ห่อหุ้มไส้ข้างใน ทำจากมะพร้าวเคี่ยวน้ำตาล หยอดด้วยแป้งข้าวเจ้า กะทิ และเกลือ ที่กวนสุก แล้วห่อด้วยใบตองให้เป็นทรงสูงคาดด้วยทางมะพร้าว จะได้ขนมที่มีกลิ่นหอม ไส้หวาน เค็มมันด้วยกะทิที่ข้นมัน

ส่วนผสมไส้มะพร้าว

  • ลูกมะพร้าวอ่อน
  • ลูกมะพร้าวทึนทึก
  • น้ำมะพร้าว 50 กรัม
  • เกลือ 1/2 ช้อนชา
  • น้ำตาลโตนด 480 กรัม

ส่วนผสมแป้งโตนดห่อไส้มะพร้าว

  • แป้งข้าวเหนียว 300 กรัม
  • เนื้อตาลโตนด 170 กรัม

ส่วนผสมกะทิ

  • แป้งข้าวเจ้า 120 กรัม
  • แป้งถั่วเขียว 1 ช้อน
  • หัวกะทิ
  • หางกะทิ
  • น้ำตาลทราย 2 ช้อน
  • เกลือ 3/4 ช้อน

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

  • เทียนอบขนม
  • ใบตอง
  • ใบมะพร้าวคาดเตี่ยว

วิธีทำไส้มะพร้าว

  1. ใช้มีดเล็ก ขูดเนื้อมะพร้าวจากลูกมะพร้าวอ่อน ลูกมะพร้าวทึนทึก ออกมาเป็นฝอยเล็ก ๆ
  2. ตั้งกระทะ เปิดไฟกลาง เทน้ำมะพร้าว 50 กรัม ลงไป ตามด้วยเกลือ 1/2 ช้อนชา น้ำตาลโตนด 480 กรัม เคี่ยวจนกว่าน้ำตาลโตนดจะละลาย
  3. ใส่เนื้อมะพร้าวขูดลงไป ผัดให้ไส้แห้ง และ เหนียว เสดแล้วให้ตักขึ้น พักให้เย็น
  4. ปั้นไส้เป็นลูกกลม ๆ ขนาดเล็ก ใส่ลงในหม้อ วางชามแก้วอยู่ตรงกลาง แล้วจุดไฟเทียนอบขนม เมื่อไฟลุกให้ดับไฟ จนเทียนส่งควันสีขาว แล้วจึงวางลงในชามที่เตรียมไว้ ปิดฝาให้สนิท เพื่ออบไส้ เป็นเวลา 20 นาที

วิธีทำแป้งห่อไส้มะพร้าว

  1. เตรียมชามผสมอาหาร เทแป้งข้าวเหนียว 300 กรัมลงไป ตามด้วยเนื้อตาลโตนด 170 กรัม ใช้มือคนให้เข้ากัน แล้วเทน้ำเย็นจัดลงไปเล็กน้อย นวดแป้งจนกว่าเนื้อเนียนนุ่ม ไม่ติดมือ
  2. นำเนื้อแป้งออกมาเล็กน้อย ห่อไส้มะพร้าวที่ปั้นไว้เข้าด้วยกัน จนเป็นลูกกลม ๆ แล้วใช้ผ้าขาวบาง ปิดพักไว้

วิธีทำกะทิ

  1. เตรียมชามผสมใหม่ ใส่แป้งข้าวเจ้า 120 กรัม แป้งถั่วเขียว 1 ช้อน น้ำตาลทราย 2 ช้อน เกลือ 3/4 ช้อน ใช้ตะกร้อมือคนให้เข้ากัน
  2. ใส่หัวกะทิลงไป 700 กรัม คนเข้าด้วยกัน จนกว่าแป้งจะละลายเข้ากันทั้งหมด ตามด้วยหางกะทิอีก 300 กรัม แล้วนำไปตั้งไฟ เปิดไฟกลาง คนจนกว่าเนื้อแป้งข้นขึ้น จึงปิดไฟ
  3. ใส่ไส้มะพร้าวที่ห่อไว้ ลงไปในหม้อจนหมด แล้วใช้ช้อน ตักเนื้อแป้งพร้อมไส้ขึ้นมาทีละลูก ใส่ในใบตอง

วิธีทำห่อใบตอง

  1. วิธีทำห่อใบตอง จะใช้ใบตอง 2 ใบ ใบที่ 1 ให้ตัดใบตองออกเป็นสี่เหลี่ยมมุมเฉียงทั้ง 4 ด้าน (เหมือนสามเหลี่ยมชนกัน) หรือ จะเป็นวงรีก็ได้ โดยให้ตัดเป็นแผ่นใหญ่ ใบที่ 2 ตัดใบตองเหมือนกัน แต่ให้มีขนาดเล็กกว่า แล้วนำใบที่ 1 ใบใหญ่ หันด้านมันออก ใบที่ 2 หันด้านมันเข้า มาวางซ้อนกัน ตักแป้งและไส้มาวางแล้วเริ่มห่อ
  2. วิธีห่อ ให้พับด้านที่สั้นสุด เข้าหากัน จากนั้น ค่อยพับด้านยาวเข้ามาประกบ ใช้ใบมะพร้าวมาคาดเตี่ยวตรงจุดประกบ คล้องขึ้นเข้าหากันด้านบน แล้วนำไม้จิ้มฟันมากลัดใบมะพร้าว
  3. เรียงห่อขนมทั้งหมดลงในซึ่ง นึ่งเป็นเวลา 20 นาที เป็นอันเสร็จ

ดูวิธีทำ ขนมใส่ไส้ เพิ่มเติมคลิก

ขนมทองหยิบ

เมนูของหวานไทยโบราณ

อีกหนึ่ง เมนูของหวานไทยโบราณ ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยท้าวทองกีบม้า หรือ มารี กีมาร์ ภรรยาของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เป็นผู้คิดค้นขึ้น ซึ่งจดหมายเหตุฝรั่งเศสฉบับหนึ่งบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “…ภรรยาเป็น ท้าวทองกีบม้า ได้เป็นผู้กำกับการชาวเครื่องพนักงานหวาน ท่านท้าวทองกีบม้าผู้นี้เป็นต้นสั่งสอนให้ชาวสยามทำของหวานคือ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองโปร่ง ทองพลุ ขนมผิง ขนมฝรั่ง ขนมขิง ขนมไข่เต่า ขนมทองม้วน ขนมสัมปันนี ขนมหม้อแกงและสังขยา…” 

ส่วนผสม

  • ไข่เป็ด 30 ฟอง
  • น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม
  • น้ำสะอาด 1/2 ลิตร
  • ดอกมะลิ
  • กระดังงา

วิธีทำ

  1. ทำน้ำลอยดอกมะลิ โดยเตรียมน้ำ 1/2 ลิตร ใส่ลงในภาชนะที่สะอาด จากนั้น ใส่ดอกมะลิ และกระดังงา แช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน พอถึงช่วงเช้ามืด ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ให้เอาออก เพื่อไม่ให้ดอกมะลิทำน้ำขม ทั้งนี้ ในส่วนของกระดังงา ให้เอาไฟลนที่กระเปาะของกระดังงา จะช่วยให้มีกลิ่นหอมมากขึ้น
  2. เริ่มทำน้ำเชื่อม โดยตักน้ำลอยดอกมะลิ ใส่ลงในหม้อต้ม ผสมกับน้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม โดยใช้ไฟกลางค่อนไฟอ่อน คอยคนให้น้ำตาลละลายเข้ากันกับน้ำอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้น้ำตาลไหม้ติดก้นหม้อ
  3. ตอกไข่เป็ด แยกไข่แดงออกจากไข่ขาว ให้ไม่เหลือเมือกไข่ขาวติดออยู่ จากนั้น ใส่ลงในผ้าขาวบาง พอตอกและแยกไข่แดงครบหมดแล้ว ให้รวบผ้าแล้วบิด กรองเอาไข่แดงออกจากผ้าขาวบางลงในชามผสมใบใหญ่
  4. พอได้ไข่แดงที่ผ่านการกรองแล้ว ให้ใช้ตะกร้อมือ ตีไข่ให้เข้ากัน โดยให้ตีเข้าหาตัว ทิศทางเดียวตลอด และให้ยกต่ำไว้ จะทำให้ไข่ไม่กระเด็นออกจากชามผสม เมื่อมีฟองอากาศเข้า และไข่เริ่มข้นเหนียวดีแล้ว แสดงว่า เนื้อไข่ได้ที่แล้ว พร้อมสำหรับการทำทองหยิบ
  5. เตรียมทำทองหยิบ โดยหากน้ำเชื่อมกำลังเดือด มีฟองฟู่อยู่ ให้เติมน้ำลอยดอกมะลิลงไป สักครึ่งกระบวย เสร็จแล้ว ปิดไฟ ให้น้ำพอร้อนกำลังดี จากนั้น ให้งอปลายช้อนที่จะหยอดเข้าหากัน ตักเนื้อไข่ แค่พอดีช้อน หยอดลงไปในหม้อ โดยลักษณะการหยอด ให้เทเนื้อไข่ลงไปแล้วยกช้อนตั้งฉากกับน้ำขึ้นมาทันที จะทำให้ได้เป็นไข่แผ่นกลมเล็ก ๆ ออกมา ทำอย่างนี้ จนกว่าจะเต็มหม้อ หรือ ได้จำนวนตามที่ต้องการ (ทั้งนี้ หากใครตีเนื้อไข่เกินพอดีไป เวลาหยอด เนื้อไข่จะแตก ไม่จับตัวเป็นแผ่น วิธีแก้ ให้เติมไข่แดงเปล่า ๆ ที่ไม่ได้ตีเพิ่มลงไป จะแก้ปัญหานี้ได้)
  6. พอหยอดเสร็จแล้ว ให้เปิดไฟกลางค่อนไฟอ่อน ต้มน้ำให้เดือด พอขึ้นฟองฟู่แล้ว ให้ใช้กระชอน กลับเนื้อไข่แต่ละแผ่นเป็นอีกด้านหนึ่ง ให้สุกทั่วกัน พอแต่ละชิ้นพองดีแล้ว ให้ตักน้ำลอยดอกมะลิเพิ่มลงไปเล็กน้อย ให้น้ำหายเดือด เสร็จแล้วปิดไฟ เตรียมตักขึ้น โดยเมื่อจะตักขึ้น ให้ตักแต่ละขิ้นแกว่งกับน้ำเชื่อม เพื่อล้างฟองอากาศที่ติดด้านบนออก จะทำให้เนื้อทองหยิบสีเหลืองสวย จากนั้น ตักใส่พักไว้ในน้ำเชื่อมอีกทีหนึ่ง
  7. จับเนื้อไข่ทำทองหยิบ โดยใช้มือข้างที่ถนัดเตรียมจับ ถ้าทำทองหยิบ 3 จีบ ใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง จับลงไปที่เนื้อไข่ แล้วบีบในลักษณะงุ้มขึ้นมา มืออีก 1 ข้างช่วยประคอง จับลงในถ้วยขนาดเล็ก พอจับลงไปได้แล้ว ให้ใช้ไม้หรือเหล็กเส้นขนาดเล็ก ดันเข้าไปตามร่องที่เราจับจีบ จะทำให้ร่องจีบลึกขึ้น และออกมาสวยงาม (หากใครต้องการ 4 จีบ ให้ใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ ทั้งซ้ายขวา จับแล้วบีบเข้ากัน ใส่ลงในถ้วย แล้วใช้ไม้หรือเหล็กเส้นขนาดเล็ก ดันเข้าไปตามร่องที่เราจับจีบ) เป็นอันเสร็จ

ขนมทองหยอด

ของหวานไทยโบราณ

ทองหยอด คล้ายกับ ทองหยิบ ถูกคิดค้นขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันคือ สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่จะทำได้ง่ายกว่า คือ ใช้วิธีากรหยอดลงไปในกระทะ จนได้เป็นลูกกลม ๆ ทำให้เป็น เมนูของหวานไทยโบราณ เมนูหนึ่งที่เหมาะสำหรับผู้ที่คิดจะเริ่มต้นทำขนมไทยโบราณไว้รับประทานด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม หากใครอยากตีไข่ สำหรับทำทองหยิบ และ ทองหยอด ได้สะดวก ให้เนื้อไข่เข้ากันโดยไม่ต้องเมื่อยมือ แนะนำ เครื่องตี เครื่องผสมอาหาร ของ SGE สามารถปรับความเร็วได้ถึง 3 ระดับ มีหัวตะกร้อมาให้ถึง 3 แบบ สามารถทำขนมหวานแบบไทย ๆ รวมถึงเบเกอรี่อื่น ๆ ได้หลากหลาย มีหลายรุ่นทั้งแบบพกพาและรุ่นตั้งโต๊ะ เริ่มต้นที่หลักร้อยเท่านั้น สนใจคลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.sgethai.com/stand-mixer/

ส่วนผสม

  • ไข่เป็ด 30 ฟอง (ใช้ที่เหลือจากทำทองหยิบก็ได้)
  • แป้งข้าวเจ้า 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม
  • น้ำสะอาด 1 ½ ลิตร
  • ดอกมะลิ
  • กระดังงา
  • เทียนอบ

วิธีทำ

  1. ทำน้ำลอยดอกมะลิ โดยเตรียมน้ำ 1 ½ ลิตร ใส่ลงในภาชนะที่สะอาด จากนั้น ใส่ดอกมะลิ และกระดังงา แช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน พอถึงช่วงเช้ามืด ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ให้เอาออก เพื่อไม่ให้ดอกมะลิทำน้ำขม ทั้งนี้ ในส่วนของกระดังงา ให้เอาไฟลนที่กระเปาะของกระดังงา จะช่วยให้มีกลิ่นหอมมากขึ้น
  2. นำแป้งข้าวเจ้าไปร่อน จากนั้น ตากแดดเพื่อไล่ความชื้นออกให้หมด แล้วใช้เทียนอบ อบแป้งข้าวเจ้า เพื่อให้แป้งมีกลิ่นหอม
  3. เริ่มทำน้ำเชื่อม โดยตักน้ำลอยดอกมะลิ ใส่ลงในหม้อต้ม ผสมกับน้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม โดยใช้ไฟกลางค่อนไฟอ่อน คอยคนให้น้ำตาลละลายเข้ากันกับน้ำอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้น้ำตาลไหม้ติดก้นหม้อ
  4. ตอกไข่เป็ด แยกไข่แดงออกจากไข่ขาว ให้ไม่เหลือเมือกไข่ขาวติดออยู่ จากนั้น ใส่ลงในผ้าขาวบาง พอตอกและแยกไข่แดงครบหมดแล้ว ให้รวบผ้าแล้วบิด กรองเอาไข่แดงออกจากผ้าขาวบางลงในชามผสมใบใหญ่
  5. พอได้ไข่แดงที่ผ่านการกรองแล้ว ให้ใช้ตะกร้อมือ ตีไข่ให้เข้ากัน โดยให้ตีเข้าหาตัว ทิศทางเดียวตลอด และให้ยกต่ำไว้ จะทำให้ไข่ไม่กระเด็นออกจากชามผสม โดยจะต้องตีไข่ให้ขึ้นฟู จนเป็นเนื้อครีมข้นและมีความหนืดมากกว่าไข่ที่ใช้ทำทองหยิบ เมื่อไข่ข้นเหนียว หนืดได้ที่ดีแล้ว แสดงว่า เนื้อไข่ได้ที่แล้ว พร้อมสำหรับการทำทองหยอด
  6. ตักไข่บางส่วนออกมาใส่ชามใบเล็ก แล้วตักแป้งข้าวเจ้าอบควันเทียน ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ มาผสม ค่อย ๆ ใช้ช้อนคนเบา ๆ ไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อไข่กับแป้งผสมกันจนเป็นเนื้อเดียวแล้ว ไม่เห็นเม็ดแป้ง ให้เตรียมช้อนสำหรับทำทองหยอด ตักไข่ขึ้นมา โดยช้อนที่ใช้ ต้องงอปลายช้อนเข้าหากันทั้ง 2 ด้าน เพื่อให้ทองหยอดกลม
  7. เตรียมทำทองหยอด โดยต้มน้ำเชื่อมให้เดือด จนขึ้นฟองฟู่ ตลอดเวลา จากนั้น ใช้ช้อนตักไข่ขึ้นมา เวลาตักให้ตักเข้าหาขอบชามขึ้นมาทีละน้อย แล้วทำการหยอด โดยเวลาหยอดให้ทำมือตั้งฉาก แล้วใช้นิ้วโป้งบีบไข่ลงไป จะทำให้ทองหยอดกลม ทำอย่างนี้ จนกว่าจะได้จำนวนตามที่ต้องการ (หากใครต้องการเช็กว่า ทองหยอดกลมหรือไม่ ให้เติมน้ำดอกลอยมะลิเพิ่มลงไป จะทำให้ฟองเดือดหายไป และเห็นตัวทองหยอดได้) พอทองหยอดมีลักษณะใสมันวาวดีแล้ว ให้ปิดไฟ แล้วตักแช่ในน้ำเชื่อมสักพักนึง แล้วยกขึ้น รับประทานได้เลย
เมนูของหวานไทยโบราณ ยังมีอีกนับไม่ถ้วน รอให้คนไทยรุุ่นหลังอย่างเรารอสืบสาน ทั้งในเรื่องเสน่ห์ของรสชาติ รวมถึงความเป็นมรดกวัฒนธรรม ที่แสดงความเป็นอัตลักษณ์ของชาติไทย ดังนั้น หากใครอยากสืบสานขนมไทยโบราณ ไม่ให้สูญหายไปแล้วละก็ ลองทำตามสูตรที่ SGE นำมาฝากกัน รับรองว่า นอกจากจะได้ของหวานทานอร่อยแล้ว ยังได้ความภูมิใจ ในการเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมไทยอีกด้วย

SGE ผู้นำเครื่องซีลสุญญากาศอันดับ 1 และอุปกรณ์เครื่องครัวชั้นนำมาตรฐานกว่า 100 รายการ มีสินค้าให้เลือกสรรตั้งแต่ ถุงซีลสุญญากาศ เครื่องซีลสุญญากาศ เครื่องสไลด์เนื้อ ตู้อบลมร้อน ฯลฯ ทั้งแบบใช้งานในครัวเรือน และระดับอุตสาหกรรม สนใจคลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sgethai.com/ หรือ สอบถามเพิ่มเติมทาง โทรศัพท์ หรือ Line ของเราได้เลย 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

⭐⭐ หากชื่นชอบบทความของ SGE ⭐⭐

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

30 มกราคม 2024

โดย

Pres

ความคิดเห็น (Comments)

guest
0 Comments
โหวตสูงสุด
ใหม่สุด เก่าสุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด