เอนไซม์ (Enzyme) คืออะไร?
เอนไซม์ เปรียบเสมือนกับสิ่งที่เป็นตัวจุดประกายของชีวิตในร่างกาย หมายถึง ถ้าหากร่างกายของเราไม่มีเอนไซม์ ร่างกายก็จะไม่สามารถย่อยอาหาร และดูดซึมสารอาหารเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ และในที่สุดก็ตายลง ดังนั้น เอนไซม์จึงเป็นตัวช่วยเร่งปฏิกิริยาเคมี หรือตัวคะตะลิสต์ (Catalyst) ที่จำเพาะ ซึ่งจะทำง่านร่วมกับโคเอนไซม์ (Coenzymes) โดยโคเอนไซม์ในที่นี้ คือพวกวิตามิน และแร่ธาตุจำเป็นต่อร่างกาย และวิตามิน แร่ธาตุนั้น จะไม่สามารถกระตุ้นให้ทำงานได้หากไม่ได้ทำงานร่วมกับเอนไซม์

ชนิดของเอนไซม์
เราสามารถแบ่งประเภทของเอนไซม์ ได้เป็น 3 ชนิด คือ
-
เอนไซม์จากอาหาร (Food Enzyme)
คือ เอนไซม์ที่พบได้ในอาหารสด และดิบทุกชนิดทั้งจากพืช และจากสัตว์ โดยจะช่วยย่อยอาหารที่เรารับประทานเข้าไป แต่ถ้าอาหารผ่านความร้อนที่สูงเกิน 47 องศาเซลเซียส เอนไซม์จะถูกทำลายได้ง่าย และอาจไม่มีหลงเหลือในอาหารแล้ว ดังนั้น อาหารที่ยังมีเอนไซม์หลงเหลืออยู่ จึงเป็นจำพวกผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ที่รับประทานดิบได้ เช่น ปลาดิบ เป็นต้น

-
เอนไซม์ย่อยอาหาร (Digestive Enzyme)
คือ เอนไซม์ที่ผลิตขึ้นมาจากร่างกาย ส่วนใหญ่ผลิตมาจากตับอ่อน เพื่อใช้ในการย่อยอาหาร และดูดซึมสารอาหารที่เรารับประทานเข้าไป

-
เอนไซม์ในการเผาผลาญพลังงาน (Metabolic Enzyme)
คือ เอนไซม์ที่ผลิตในเซลล์ และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย ทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาเคมีเพื่อช่วยในการเผาผลาญสารอาหาร และสร้างพลังงาน สร้างภูมิต้านทาน และเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย รวมไปถึงช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของอวัยวะต่าง ๆ อีกด้วย

บางข้อมูลอาจรวมชนิดของเอนไซม์จากอาหาร และเอนไซม์ย่อยอาหารไว้ด้วยกัน เพราะทั้ง 2 ชนิด เหมือนกันทุกอย่าง ต่างกันเพียงที่แหล่งผลิตเท่านั้น โดยที่เอนไซม์จากอาหารจะผลิตจากภายนอกร่างกาย ส่วนเอนไซม์ย่อยอาหารจะผลิตจากภายในร่างกาย
▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾
เอนไซม์ มีหน้าที่อะไร?
องค์ประกอบที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของเราได้แก่ น้ำ อากาศ และอาหาร อาหารจะถูกส่งเข้าไปเลี้ยงในร่างกายได้ จะต้องอาศัยเอนไซม์ในการกระบวนการย่อยอาหาร และจะต้องอาศัยวิตามิน, แร่ธาตุ, กรดอะมิโน, สารไฟเตท ที่จำเป็นมาเป็นตัวประกอบสำคัญในการเสริมประสิทภาพการทำงานของเอนไซม์ ร่างกาย ประกอบไปด้วยเซลล์ขนาดเล็กหลายล้านเซลล์ สารอาหารจะต้องถูกย่อยโดยการทำงานของเอนไซม์จนมีขนาดเล็กในระดับอิออน จึงจะสามารถผ่านหนังของเซลล์ขนาดเล็กแต่ละเซลล์ได้ ร่างกายจึงจะดำรงชีวิตอยู่ได้ ในทางกลับกันถ้าสารอาหารไม่สามารถส่งไปถึงเซลล์ได้ การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอก็ไม่สามารถทำได้ จึงทำให้ร่างกายเกิดภาวะเสื่อม ส่งผลทำให้ภูมิคุ้มกันทำหน้าที่ไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เป็นโรคต่าง ๆ นั่นเอง
❝ หน้าที่หลักที่แท้จริงของเอนไซม์ คือ ช่วยในการย่อยอาหาร โดยเอนไซม์มีหน้าที่เป็นตัวเร่งในการย่อยอาหารให้สมบูรณ์ ทำให้ร่างกายของเราได้รับสารอาหารที่มีคุณภาพแล้วนำไปใช้ได้ ถ้าน้ำย่อยไม่ดีถึงรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพียงใดก็ไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ กับร่างกายทั้งสิ้น นอกจากนี้ เอนไซม์ยังมีหน้าที่ช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ช่วยสร้างโปรตีนในกล้ามเนื้อ ช่วยทำให้กล้ามเนื้อหดตัว สลายสารพิษ ทำให้เลือดบริสุทธิ์ ช่วยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากปอด และช่วยลดความเครียดของตับอ่อนและอวัยวะอื่น ๆ ภายในร่างกาย ❞
▴ ▴ ▴ ▴ ▴ ▴ ▴ ▴ ▴ ▴ ▴ ▴ ▴ ▴ ▴
🤔 ไขข้อสงสัย!!
อาหารที่มีเอนไซม์ ทำงานได้เหมือนกับเอนไซม์ที่พบในร่างกายเราหรือไม่?
เอนไซม์เป็นสารชีวเคมีที่จำเป็นต่อร่างกายของเรา ช่วยให้ร่างกายสามารถย่อยอาหาร เพื่อนำสารอาหารไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ในลำไส้และตับอ่อนของมนุษย์ สามารถผลิตเอนไซม์ได้หลากหลายชนิด และมีอาหารบางชนิดที่อุดมไปด้วยเอนไซม์ หรือบางครั้งก็มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์
อาหารบางประเภทมีปริมาณเอนไซม์สูง แต่เอนไซม์มักสลายไป เมื่อเข้าสู่ระบบย่อยอาหาร ในขณะที่บางวัฒนธรรมการกินเชื่อว่า การรับประทานอาหารที่มีเอนไซม์สูงจะช่วยเรื่องการย่อยอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการเพียงพอที่จะยืนยันความเชื่อนี้ อาหารที่มีปริมาณเอนไซม์สูง อาจจะมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ และควรค่าแก่การบริโภคเป็นเครื่องเคียงอาหารจานหลัก ได้แก่
- กิมจิ
พริกแดง กะหล่ำปลี และหัวไชเท้า ที่ผ่านการหมักดองตามวัฒนธรรมการปรุงอาหารของคนเกาหลี มีรสเปรี้ยวและเผ็ดเล็กน้อย นักวิจัยกล่าวว่า อาหารเคียงจานนี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายด้าน แบคทีเรียที่อยู่ในกิมจิ ผลิตเอนไซม์ที่มีประโยชน์
👉 สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับ กิมจิ ได้ที่นี่

- อะโวคาโด
อะโวคาโด เป็นแหล่งของเอนไซม์ไลเปส ซึ่งมีหน้าที่ในการย่อยไขมันในระบบทางเดินอาหาร แต่ในความเป็นจริง การย่อยไขมันในลำไส้เล็ก ใช้เอนไซม์ไลเปสที่ผลิตจากตับอ่อน ดังนั้น เอนไซม์ไลเปสที่ได้รับจากการบริโภคอาหาร อาจเป็นเพียงการส่งเสริมให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น เพราะทุกวันนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า เอนไซม์ไลเปสที่ได้จากอาหารจะให้ผลเช่นเดียวกับเอนไซม์ไลเปสที่ผลิตจากตับอ่อน
👉 สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับ อะโวคาโด ได้ที่นี่ - แอปริคอต
ในแอปริคอตมีเอนไซม์อยู่หลากหลายชนิด เช่น อินเวอร์เวส ที่ช่วยย่อยน้ำตาลซูโครส ให้เป็นน้ำตาลกลูโคส และฟรุกโตส เพื่อให้ร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ เอนไซม์อินเวอร์เทส ยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่เกิดจากกิจกรรมของเซลล์อีกด้วย

- สับปะรด
ในผลไม้สีเหลืองฉ่ำอย่างสับปะรด มีสารที่ชื่อว่า โบรมีเลน ซึ่งประกอบด้วยเอนไซม์หลายชนิดที่ช่วยย่อยโปรตีน จากงานวิจัยในวารสาร Cancer Letters ระบุว่า โบรมีเลนอาจช่วยป้องกันมะเร็ง และต้านการอักเสบ เมื่อทำการทดลองกับเกร็ดเลือดในห้องปฏิบัติการ พบว่า เกร็ดเลือดแยกตัวจากกัน นักวิจัยชี้ว่า โบรมีเลนมีผลต้านการแข็งตัวของเลือด และอาจนำไปสู่การรักษาโรคหลอดเลือดอุดตันได้ แต่ยังต้องศึกษาเรื่องผลข้างเคียงต่อไป
👉 สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับ สับปะรด ได้ที่นี่ - กล้วย
นอกจากเป็นแหล่งโพแทสเซียมชั้นดีแล้ว กล้วยยังอุดมไปด้วยเอนไซม์อะไมเลส และมัลเทส เอนไซม์อะไมเลสพบในน้ำลาย และลำไส้เล็กของมนุษย์ ช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเล็ก เพื่อการดูดซึมที่ลำไส้ ส่วนมัลเทสเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยน้ำตาลมัลโทสที่พบในพืชตระกูลมอล์ต น้ำเชื่อมข้าวโพด และเบียร์
จะเห็นได้ว่า เอนไซม์เปรียบเสมือนกุญแจสำคัญที่ส่งเสริมการมีชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ตั้งแต่ ไซนาโนแบคทีเรีย จนถึงสัตว์เลี้ยงลูกกด้วยนม ถ้าหากสิ่งมีชีวิตขาดเอนไซม์ ร่างกายของจะอ่อนแอลงเรื่อย ๆ และตายในที่สุด ดังนั้น เอนไซม์จึงเปรียบเหมือนผู้ช่วยในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ทำหน้าที่ ช่วยเร่งปฏิกิริยาเคมีที่จำเพาะ (Specific catalyst) ซึ่งจะทำงานร่วมกับสารชีวเคมีอื่น ได้แก่ โคเอนไซม์ (Co-enzymes) ซึ่งร่างกายได้รับจากสารอาหารจำพวกพวก วิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่ถ้ามีเฉพาะวิตามิน และแร่ธาตุนั้น จะไม่สามารถกระตุ้นการทำงานภายในเซลล์ได้ หากไม่ได้ทำงานร่วมกับเอนไซม์ หวังว่าบทความนี้จะทำให้หลาย ๆ คนเข้าใจถึงเอนไซม์มากขึ้นแล้วนะจ๊ะ 🤗 สามารถติดตาม บทความอื่นๆ ได้ที่นี่ 👈