รู้จัก ผำ หรือ ไข่ผำ วัตถุดิบพื้นบ้านโปรตีนสูง เลี้ยงง่าย สร้างรายได้เสริม
อีกหนึ่งวัตถุดิบพื้นบ้าน ที่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่คุ้นหูอย่าง “ไข่ผำ หรือ ผำ” หรือที่เรียกกันในฉายา กรีนคาเวียร์ (Green Caviar) ที่กำลังจะดันให้เป็น Supper food ระดับโลกเลยทีเดียว มีประโยชน์ และคุณค่าทางสารอาหารมากมาย บทความนี้ SGE จะพาไปรู้จักกับผำ หรือไข่ผำ คืออะไร? ประโยชน์เป็นอย่างไร? สามารถเลี้ยงเป็นรายได้เสริมได้อย่างไร? ตามไปดูกัน
รู้จักกับ ไข่ผำ คือ
ผำนั้น เป็นพืชน้ำ มีสีเขียว เม็ดกลมขนาดเล็ก คล้าย ๆ ไข่ปลา มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 0.1-0.2 มิลลิเมตร กระจายคลุมเหนือผิวน้ำเป็นแพ มักจะขึ้นอยู่ตามแหล่งน้ำที่เป็นน้ำนิ่ง เช่น บึง และหนองน้ำธรรมชาติทั่วไป จัดเป็นพืชดอกไม่มีรากและใบ จะมีมากในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่มีน้ำไหลเวียน เวลาเก็บไข่ผำ ต้องใช้สวิงช้อนขึ้นมา แล้วล้างให้สะอาด ก่อนจะนำไปปรุงทำอาหาร เป็นพืชผักพื้นบ้านที่ชาวบ้านนิยมนำไปประกอบอาหารกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น แกง ผัด หรือใส่เป็นส่วนประกอบของอาหาร เพื่อเพิ่มรสชาติให้มีความหอม มัน อร่อย มากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ไข่ผำนั้น จัดเป็นผักพื้นบ้านที่คนชนบทภาคเหนือ และอีสาน นิยมใช้เป็นอาหาร มีรสมัน มีโปรตีนสูงมาก ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักแห้ง โดยปริมาณโปรตีน จะคล้ายคลึงกับถั่วเหลือง ซึ่งสูงกว่าไข่ และเนื้อ แต่ปริมาณโปรตีน จะไม่สม่ำเสมอขึ้นกับแหล่งที่อยู่ โดยจะแปรผันไปตามปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ด้วย
คุณค่าทางโภชนาการของไข่ผำ
ไข่ผำประมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 8 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย
- เส้นใย 0.3 กรัม
- แคลเซียม 59 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม
- เหล็ก 6.6 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ ยังมีวิตามินA, B1, B2, วิตามินซี, ไนอะซิน และมีกรดอะมิโนที่จำเป็นหลายชนิด เช่น ลิวซีน, ไลซีน, วาลีน, ฟีนิวอลานีน, ธีโอนีน, ไอโซลิวซีน และมีเบต้าแคโรทีนสูงมาก ส่วนคลอโรฟิลล์ในผำ เป็นสารสีเขียว ที่พบในพืช โครงสร้างมีลักษณะคล้ายฮีม ที่อยู่ในฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในเลือดนั่นเอง
ประโยชน์ของไข่ผำ
ไข่ผำจัดได้ว่า มีคุณค่าทางอาหารสูง ควรส่งเสริมให้มีการผลิต และบริโภคมากยิ่งขึ้น
- มีโปรตีนสูงไม่แพ้ถั่วเหลือง มีโปรตีน 40% ของน้ำหนักแห้ง ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอให้ปกติ
- มีกรดอะมิโน และแคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูก และฟัน
- มีธาตุเหล็ก ป้องกันภาวะโลหิตจาง
- มีบีตาแคโรทีน ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และบำรุงสายตา
- มีไฟเบอร์ ช่วยเรื่องระบบย่อยอาหารต่าง ๆ
- ช่วยปรับสภาพร่างกายให้เป็นด่าง ในคนที่มีสภาวะเครียด หรือร่างกายมีความเป็นกรดจากอาหาร และช่วยรักษาภาวะซีด
รู้ไหมว่า? ไข่ผำนั้น มีคุณสมบัติในการบำบัดน้ำเสียได้ โดยผำ จะช่วยให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำ มีค่าสูงขึ้น ความเป็นกรดด่างอยู่ในระดับค่อนข้างเป็นกลาง และค่าความขุ่นของน้ำเสีย มีค่าต่ำลงได้ ไม่ควรใช้ไข่ผำจากการบำบัดน้ำเสียไปรับประทาน เพราะอาจมีสารเคมีอันตรายจากน้ำเสียสะสมในผำ ทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ไ
การขยายพันธุ์ และการเพาะเลี้ยงไข่ผำ
- การเพาะเลี้ยงไข่ผำ
วัสดุที่เพาะเลี้ยงอาจเป็นโอ่ง อ่างน้ำ กะละมัง หรือท่อซีเมนต์ หากใช้ท่อซีเมนต์ ต้องเทปูนรองพื้น ป้องกันน้ำรั่ว ใส่ท่อระบายน้ำทิ้งไว้ เพื่อการเปลี่ยนถ่ายน้ำ และแช่น้ำทิ้งไว้ให้บ่อหมดความเป็นปูน หรือให้บ่อจืดก่อน จึงจะเลี้ยงผำได้
- สถานที่สำหรับเลี้ยง
พื้นที่ร่ม หรือหากจำเป็นต้องเลี้ยงกลางแดด ให้พรางแสงด้วยสแลน 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะช่วยให้ผำโตดี และให้โปรตีนสูงกว่าการเลี้ยงกลางแดดจัด
สินค้าแนะนำ: สแลนกันแดด สแลนกรองแสง
- การเก็บเกี่ยวผลผลิต
สามารถทำได้ 2 แบบ คือ เก็บครั้งเดียวแล้วเลี้ยงใหม่ เก็บสัปดาห์ละครั้ง และควรเก็บ ประมาณ 40% ของผำในบ่อเลี้ยง เพื่อให้ผำ เจริญเติบโตได้เพียงพอกับการรับประทานได้บ่อยครั้งนั่นเอง
- การเก็บรักษา
หากเหลือจากรับประทาน สามารถเก็บให้คงความสด ในอุณหภูมิห้องได้ ไม่เกิน 2 วัน และเก็บในตู้เย็นได้ ประมาณ 1 สัปดาห์
สินค้าแนะนำ: เครื่องซีลสุญญากาศ และ ถุงซีลสุญญากาศ
แนะนำ 3 เมนูไข่ผำ
รสชาติของ ไข่ผำ คือ มีรสจืด ไม่มีกลิ่น มีความกรุบคล้าย ๆ ไข่กุ้ง ก่อนนำมาทำอาหาร ต้องล้างให้สะอาด รองด้วยผ้าขาวบางให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งสกปรกปนอยู่ ไข่ผำที่ดี ต้องมีสีเขียวสดไม่คล้ำ และต้องปรุงให้สุกก่อนกิน เพราะการทานไข่ผำดิบ อาจส่งผลเสียต่อการดูดซึมอาหารได้ ไข่ผำสามารถนำมาทำอาหารได้หลายเมนูจากไข่ผำ เช่น
1) เมนูไข่เจียวไข่ผำ
วัตถุดิบ
- ผำ ตามชอบ
- ไข่ไก่5 ฟอง
- ผงปรุงรส 1 ช้อนชา
- หอมใหญ่ซอย 1/2 หัว
- น้ำมันรำข้าว สำหรับทอด
วิธีทำ
- นำไข่ผำ ล้างน้ำให้สะอาด เตรียมไว้
- ตอกไข่ใส่ชามผสม ใส่ผงปรุง ตีให้เข้ากัน จากนั้น ใส่ไข่ผำ และหอมใหญ่ ลงไปคนให้เข้ากัน
- ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันเทไข่เจียวไข่ผำลงไป จากนั้น เปิดแก๊ส ใช้ไฟปานกลางค่อนอ่อน ทอดให้ไข่เจียวสุกดีพลิกกลับด้าน จนสุก ปิดเตา ตักใส่จาน พร้อมเสิร์ฟ
2) เมนูคั่วไข่ผำ
ส่วนผสม
- ผำ 1 ถ้วย
- เนื้อหมูสามชั้น 100 กรัม
- ข่าหั่น 7 แว่น
- ตะไคร้ซอย 2 ช้อนโต๊ะ
- ใบมะกรูดซอย 5 ใบ
- พริกชี้ฟ้าหั่น 2 ใบ
- กระเทียมสับ 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันพืช 1/2 ถ้วย
ส่วนผสมเครื่องแกง
- เกลือ 1 ช้อนชา
- กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ
- ปลาร้าต้มสุก 1 ช้อนโต๊ะ
- พริกแห้ง 10 เม็ด
- กระเทียม 10 กลีบ
- หอมแดง 3 หัว
- ข่าหั่น 1 ช้อนโต๊ะ
- ตะไคร้ซอย 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
- โขลกเครื่องแกงรวมกันให้ละเอียด
- ตั้งกระทะ เจียวกระเทียมกับน้ำมัน ใส่เครื่องแกงลงผัดจนมีกลิ่นหอม ใส่หมูสามชั้น ผัดให้หมูสุก
- ตามด้วยใส่ข่า ตะไคร้ และพริกชี้ฟ้า ผัดให้เข้ากัน และใส่ไข่ผำลงผัด ผัดจนสุก ปิดเตา ตักใส่จาน พร้อมเสิร์ฟ
สูตรจาก lannainfo.library.cmu.ac.th
3) แกงอ่อมไข่ผำ
ส่วนผสม
-
ผำ 1/2 กิโลกรัม
-
เนื้อหมู 300 กรัม
-
ข้าวแช่
-
พริก 3 เม็ด
-
น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
-
น้ำปลาร้า 3 ช้อนโต๊ะ
-
เกลือ เล็กน้อย
-
ใบมะกรูด
-
ตะไคร้ 1 ต้น
-
ผักชีลาว
- น้ำเปล่า 1/2 แก้ว
วิธีทำ
- นำไข่ผำไปล้างให้สะอาด ใส่หม้อ เตรียมไว้
- โขลกข้าวแช่ พริกเข้าด้วยกัน จากนั้น ตักใส่หม้อที่มีไข่ผำ นำขึ้นตั้งไฟ ใส่ใบมะกรูด ตะไคร้หั่น คนให้เข้ากัน เติมน้ำเปล่าครึ่งแก้ว น้ำปลาร้า คนให้เข้ากัน พอสุก ปิดเตายกลง
- จากนั้น ปรุงรสด้วยเติมน้ำปลา โรยเกลือ เล็กน้อย ตักใส่ชาม เสิร์ฟคู่กับข้าวเหนียว พร้อมทาน
เป็นอย่างไรบ้าง วัตถุดิบพื้นบ้าน อย่างไข่ผำ ที่บอกเลยว่า น่าลิ้มลองมาก ๆ เป็นอีกหนึ่งอาหารที่ให้ประโยชน์ หรือใครจะไปเพาะเลี้ยงไข่ผำ เป็นอาชีพเสริมก็ทำได้ไม่ยากเลย หวังว่าบทความนี้ จะให้ประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะจ๊ะ
บทความดี ๆ น่าอ่าน:
อ้างอิงข้อมูลจาก: จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยแม่โจ้, psub.psu.ac.th, sentangsedtee.com, th.openrice.com
30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน