ปุ๋ยเคมี

2,338 Views

คัดลอกลิงก์

ปุ๋ยเคมี มีกี่แบบ เลือกใช้อย่างไร ให้ต้นไม้เจริญงอกงาม

ปุ๋ยเคมี มีอะไรบ้าง เลือกใช้อย่างไร ถึงจะช่วยบำรุงต้นไม้ให้เจริญงอกงาม SGE มีคำตอบ
พร้อมพาคุณไปดูข้อดี ข้อเสีย เมื่อเทียบกับปุ๋ยอินทรีย์ ใครเป็นเกษตรกร หรือ คนที่ชอบปลูกต้นไม้
แล้วอยากรู้ว่า ถ้าใช้ปุ๋ยเคมีแล้ว จะได้ผลลัพธ์ดีหรือไม่ ตามมาดูกันเลย

ทำความรู้จัก ปุ๋ยเคมี

ปุ๋ยเตมี

ปุ๋ยเคมี คือ

ปุ๋ยเคมี คือ ปุ๋ยที่ผลิตจากกระบวนการทางเคมี โดยการนำเอาก๊าซแอมโมเนีย (NH3) ซึ่งได้มาจากการสังเคราะห์น้ำมัน มารวมกับ กรด ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ ทำให้อุดมไปด้วยธาตุอาหารหลักที่จำเป็นต่อพืช เช่น ไนโตรเจน  (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) ตลอดจนธาตุอาหารรองอื่น ๆ ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม ซัลเฟอร์ เหล็ก และ สังกะสี ทั้งนี้ ปุ๋ยเคมี มีหลากหลายสูตร ขึ้นอยู่กับว่า ใช้กรดชนิดใด ในการทำปฏิกิริยา

ปุ๋ยเคมี มีอะไรบ้าง

ประเภทของปุ๋ยเคมี สามารถแบ่งออกได้ 3 ชนิดด้วยกัน โดยพิจารณาจากจำนวนของธาตุอาหาร ที่อยู่ในปุ๋ยเป็นหลัก ได้แก่

ปุ๋ยเชิงเดี่ยว : ปุ๋ยเคมี ที่มีธาตุอาหารหลัก เพียง 1 ชนิด เช่น ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน ปุ๋ยเคมีฟอสฟอรัส ปุ๋ยเคมีโพแทสเซียม

ปุ๋ยเชิงประกอบ : ปุ๋ยเคมี ที่ประกอบไปด้วยธาตุอาหารหลัก 2 ชนิด เรียกชื่อตามส่วนประกอบทางเคมีนั้น ๆ เช่น ปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรท เป็นการรวมกันของธาตุโพแทสเซียม และ ไนเตรท ซึ่งเป็นสารประกอบของธาตุไนโตรเจน

ปุ๋ยเชิงผสม : ปุ๋ยเคมี ที่มีการนำธาตุอาหารอย่างน้อย 3 ชนิดมาผสมกัน จนได้สูตรตามที่ต้องการ ส่วนใหญ่แล้ว ชื่อปุ๋ยจะประกอบด้วยตัวเลข 3 จำนวน เช่น ปุ๋ยเคมีที่ประกอบด้วย ปุ๋ยไนโตรเจน โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส จะเรียกกันว่า ปุ๋ย 15–15-15

รูปแบบของปุ๋ยเคมีที่นิยมใช้กัน

เนื่องจากปุ๋ยเคมี ผลิตทางกระบวนการทางเคมี ทำให้สามารถผลิตออกมาเป็นแบบปุ๋ยผง ปุ๋ยเกล็ด ปุ๋ยเม็ด หรือ ปุ๋ยอัดเม็ด ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มีความสามารถในการละลายน้ำ หรือ การปลดปล่อยธาตุอาหารให้พืช ที่แตกต่างกัน โดยรูปแบบของปุ๋ยเคมีที่นิยมใช้กัน เช่น

ปุ๋ยเคมีละลายเร็ว : เป็นปุ๋ยแบบผง ที่ละลายน้ำได้ดี พืชสามารถดูดใช้ได้ทันที เมื่อใส่ลงดิน หรือ เมื่อละลายน้ำแล้วฉีดพ่นทางใบ ได้แก่ ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต และ ปุ๋ยผสมสูตรต่าง ๆ เช่น ปุ๋ยสูตร 12-60-0, 10-50-10 และ 10-20-30 เป็นต้น

ปุ๋ยกึ่งละลายช้าหรือเร็ว : ปุ๋ยเคมีแบบเกล็ด ที่มีส่วนประกอบบางส่วนละลายน้ำได้ดี และ บางส่วนไม่ละลายน้ำ เช่น ปุ๋ย PAPR ซึ่งมีส่วนผสมของฟอสฟอรัสในรูปและสัดส่วนต่าง ๆ

ปุ๋ยควบคุมการปลดปล่อย : เป็นปุ๋ยแบบเม็ด หรือ อัดเม็ด ที่มีการเคลือบเม็ดปุ๋ยด้วยสารเคลือบที่ไม่ละลายน้ำ แต่เมื่อมีน้ำผ่านเข้าไป จะทำให้สารเคลือบมีการยืดหยุ่น หรือ อ่อนตัวลง ช่วยปลดปล่อยธาตุอาหาร ให้ออกมาอย่างคงที่ และ สม่ำเสมอ

ปุ๋ยเคมี ข้อดี – ข้อเสีย

ปุ๋ยเคมี มีอะไรบ้าง

ข้อดี

– มีธาตุอาหารหลักมากกว่าปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช

– ราคาถูก ช่วยลดต้นทุนในการทำการเกษตรได้

หาซื้อได้สะดวก ใช้งานง่าย เพราะถูกบรรจุอยู่ในรูปแบบผง เกล็ด หรือ แบบอัดเม็ด

– หากใช้ปุ๋ยควบคุมการปลดปล่อย จะกำหนดระยะเวลาในการให้ปุ๋ยเร็ว หรือ ช้า ก็ได้ ไม่ต้องคอยใส่ปุ๋ยบ่อย ๆ

ข้อเสีย

– หากใส่ติดต่อกันนานเกินไป โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีที่ให้ธาตุไนโตรเจน เช่น ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยแอมโมเนียคลอไรด์ อาจทำให้ดินเป็นกรดได้

– ปรับปรุงสภาพดินให้มีอินทรียวัตถุ ได้ไม่ดีเท่ากับ ปุ๋ยอินทรีย์

⭐⭐ หากชื่นชอบบทความของ SGE ⭐⭐

เครื่องซีลสูญญากาศ จาก SGE การันตีด้วยยอดขายอันดับ 1

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

เลือกใช้ปุ๋ยเคมีอย่างไร ให้ต้นไม้เจริญงอกงาม

ปุ๋ยเคมี

1. ใช้ปุ๋ยเคมีให้ถูกสูตร

ควรพิจารณาว่า ดินที่ใช้ปลูก นั้น ขาดธาตุอาหารหลักชนิดใด จะได้รู้ว่า ควรซื้อปุ๋ยเคมี ที่มีธาตุอาหารใดบ้าง มาใช้ในฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน สามารถทำได้ โดยการใช้ชุดอุปกรณ์ NPK pH Test Kit for Soil ในการทดสอบ

สำหรับกรณีการบำรุงพืชให้เจริญงอกงาม ให้เลือกปุ๋ยเคมีเชิงผสม เป็นหลัก โดยการเลือกใช้ปุ๋ยเคมีให้ถูกสูตร ตรงกับส่วนของพรรณพืชที่ต้องการบำรุงนั้น ให้ดูตรงตัวเลข มีหลักในการพิจารณา คือ

  • หากตัวเลขทั้ง 3 หลักเท่ากัน = เป็นปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ อุดมไปด้วยธาตุ N P K เหมาะสำหรับพืชผักทุกชนิด เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เร่งการเจริญเติบโตของต้น ใบ ดอก และผล อย่างสม่ำเสมอ เหมาะกับพืชผัก ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ
  • หากตัวเลขหลักแรกมีจำนวนมากที่สุด = เน้นบำรุงใบ กิ่ง ลำต้น เหมาะกับการใช้กับพืชผักสวนครัว เช่น ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ปุ๋ยไนโตรเจนสูง เร่งการเจริญเติบโต เร่งต้น และ ใบ ใช้ได้กับพืชทุกชนิด
  • หากตัวเลขหลักกลางมีจำนวนมากที่สุด = เน้นบำรุงราก เน้นใช้เพื่อสร้างเซลล์พืช หรือ ไม้ดอก เช่น  ปุ๋ยสูตร 16-20-0 เร่งการออกดอก
  • หากตัวเลขหลักสุดท้ายมีจำนวนมากที่สุด = เน้นบำรุงผลผลิต เหมาะสำหรับไม้ผล เช่น ปุ๋ยสูตร 13-13-21 เร่งผลผลิต เพิ่มขนาดผล เพิ่มน้ำหนัก เพิ่มความหวาน เพิ่มรสชาติ ให้กับผลไม้ต่างๆ

2. เลือกรูปแบบของปุ๋ยเคมีที่เหมาะสมกับฤดูกาล

หากต้องการให้ปุ๋ยพืชในระยะยาว ในช่วงหน้าฝน ควรใส่แบบเม็ด หรือ อัดเม็ดเป็นหลัก เพราะหากใส่แบบผง อาจทำให้ปุ๋ยละลายไปกับน้ำฝนได้ง่าย แต่ถ้าต้องการให้ปุ๋ยแก่พืชในระยะสั้นแล้วละก็ ให้ใช้ปุ๋ยเคมีแบบผง

3. ใส่ปุ๋ยเคมีให้ถูกวิธี

สำหรับพืชที่อยู่ในระยะต้นอ่อน ควรใช้ปุ๋ยเคมีแบบผง ไปละลายในน้ำเสียก่อน แล้วจึงนำไปรดต้นอ่อน พืชจะได้ดูดซึมได้ง่าย สำหรับไม้พุ่ม ไม้ประดับในกระถาง หรือ ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ใช้ปุ๋ยเคมีแบบผง หรือ ชนิดเม็ดก็ได้ โดยหากใส่ปุ๋ยเคมีแบบอัดเม็ด วิธีใส่ปุ๋ย ให้ใส่ในดินบริเวณข้าง ๆ ลำต้น โดยให้ห่างจากโคนต้นประมาณ 15 – 30 เซนติเมตร หรือ ตามระยะที่เหมาะสม

4. ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่กันด้วย

เพราะการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้พืชได้รับเฉพาะธาตุอาหารหลัก ไม่ได้รับธาตุอาหารรองอื่น ๆ ที่เพียงพอ ตลอดจนขาดอินทรียวัตถุ และ จุลินทรีย์ ที่จะช่วยบำรุงดินให้มีความร่วนซุย ระบายน้ำและอากาศได้ดีด้วย ดังนั้น หากต้องการใช้ปุ๋ยเคมีให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีแล้วละก็ ควรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักควบคู่กัน จะได้ช่วยบำรุงทั้งดินและต้นไม้ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ แข็งแรง เจริญเติบโตได้ดี

การใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยบำรุงพืช ต้นไม้ ให้เจริญงอกงามได้ ไม่แพ้ปุ๋ยอินทรีย์ แถมยังให้ธาตุอาหารหลักที่สำคัญมากกว่า ราคาถูกกว่า และ หาซื้อได้ง่าย เหมาะกับทั้งคนเมือง หรือ เกษตรกรที่ต้องการใช้ปุ๋ยในการบำรุงรักษาพืช ดังนั้น หากใครต้องการใช้ปุ๋ยเคมีแล้วละก็ เพียงแค่ใช้ปุ๋ยเคมีให้ถูกสูตร ใช้รูปแบบของปุ๋ยที่เหมาะสมกับฤดูกาล หรือ ความต้องการ และ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่กันอยู่เสมอ แล้วละก็ รับรองว่า ไม่ว่าจะปลูกอะไรก็เจริญงอกงาม พร้อมเก็บเกี่ยวผลผลิตไว้รับประทาน ตลอดจนเก็บขายเพื่อสร้างรายได้ ได้อย่างแน่นอน

9 กุมภาพันธ์ 2023

โดย

Pres

ความคิดเห็น (Comments)

Leave A Comment