ประโยชน์ มะไฟ ผลไม้รสเปรี้ยวอมหวาน อร่อยแถมดีต่อสุขภาพ!
มะไฟ ผลไม้ที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย รสชาติเปรี้ยวนำ หวานตาม อร่อยถูกใจใครหลายคน
นอกจากรสชาติที่มีเอกลักษณ์แล้ว มะไฟยังอุดมไปด้วยประโยชน์มากมาย จะมีอะไรบ้างนั้นตาม SGE ไปดูกันเลย!

มะไฟ (Burmese Grape) เป็นพืชพื้นเมืองของอินโดนีเซีย แพร่หลายทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในอินเดียและมาเลเซีย พบได้ทั่วไปในทุกพื้นที่ของประเทศไทย สำหรับชื่อท้องถิ่น ภาคใต้เรียก “ส้มไฟ” ส่วนชาวเพชรบูรณ์เรียก “หัมกัง” มะไฟจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลมีลักษณะทรงกลมเล็ก ออกเป็นพวง ผลอ่อนมีขนคล้ายกำมะหยี่ ผลแก่จะมีผิวเกลี้ยง เปลือกสีเหลืองครีม เนื้อเป็นพูเล็ก เนื้อฟูนุ่มฉ่ำน้ำ มีสีขาวขุ่นหรือสีชมพูตามสายพันธุ์ รสชาติเปรี้ยวอมหวาน มีคุณประโยชน์และสรรพคุณทางยาหลายอย่าง นำมารับประทานเป็นผลไม้สด และทำเป็นเครื่องดื่มได้
สายพันธุ์มะไฟที่นิยมปลูกในประเทศไทย ได้แก่
- พันธุ์ไข่เต่า ผลกลมรี ก้นแหลม เนื้อสีอมชมพู รสชาติหวานอมเปรี้ยว
- พันธุ์เหรียญทอง ผลใหญ่ ก้นเรียบ สีขาวขุ่น หวานน้อยกว่าพันธุ์ไข่เต่า
- พันธุ์ข้าวเหนียวดำ ผลเล็ก เนื้อสีม่วง รสชาติหวานอมเปรี้ยว
- พันธุ์ทองสยาม ผลใหญ่ เนื้อสีขาวขุ่น หวานมากกว่าพันธุ์อื่น ออกผลดก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น: ทรงพุ่มโปร่ง ลำต้นกลม เนื้อไม้แข็ง ลักษณะเป็นร่องเล็ก มีรอยแตก ความสูงประมาณ 10-15 เมตร
ใบ: ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน เนื้อใบค่อนข้างบางและเกลี้ยง มีลักษณะเป็นรูปหอก ปลายเรียวแหลม ใบด้านบนมีสีเขียว พื้นผิวมัน ใบด้านล่างมีสีอ่อนกว่า
ดอก: ดอกออกเป็นช่อกระจุก สีชมพูอ่อนหรืออมเหลือง กลีบเลี้ยงมีสีเขียวปนเหลือง ก้านช่อดอกยาว ออกดอกตามลำต้น ซอกใบ และปลายกิ่ง
ผล: ออกเป็นพวง มีลักษณะทรงกลมเล็ก ผิวเปลือกบาง ผลอ่อนมีขนคล้ายกำมะหยี่ เมื่อผลสุกผิวจะเกลี้ยงไม่มีขน มีสีเหลืองอมครีม ภายในผลจะมีเนื้อฟูนุ่มฉ่ำน้ำ มีสีขาวขุ่นหรือขาวใสอมชมพู แล้วแต่สายพันธุ์ที่ปลูก มีรสชาติเปรี้ยวอมหวานและมีกลิ่นหอม
เมล็ด: มีลักษณะรูปไข่อยู่ข้างในเนื้อ เมล็ดมีผิวเรียบลื่นเป็นมันสีน้ำตาล
สรรพคุณและประโยชน์ มะไฟ

สรรพคุณทางยา
1) ใบ
- ช่วยแก้พิษฝี
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
- ช่วยให้ชุ่มคอ แก้และบรรเทาอาการไอ
- ช่วยแก้โรคหวัด แก้ไข้มาลาเรีย
- ช่วยขับเสมหะและละลายเสมหะ
- ช่วยรักษากลาก เกลื้อน และโรคเรื้อน
2) รากสดหรือรากแห้ง
- แก้วัณโรค
- ช่วยดับพิษร้อน
- ช่วยแก้ฝีภายใน
- ช่วยรักษาโรคเริม
- ใช้แก้พิษตานซาง
- ช่วยบรรเทาอาการไข้ที่มีอาการปวดข้อ ปวดเข่า และมีผื่นคล้ายลมพิษ หรือ “ไข้ประดง”
3) ผล
- ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้อาการท้องร่วง
- ใช้เป็นยาช่วยย่อย รักษาอาการอาหารไม่ย่อย
4) เมล็ด
- บรรเทาอาการปวดท้อง
5) เปลือก
- ต้มใช้แก้โรคผิวหนัง แก้อาการผิวหนังอักเสบชนิดที่เป็นถุงน้ำและลอกออกมา
ประโยชน์
ผลของ มะไฟ เมื่อสุกแล้วสามารถนำมารับประทานสดและทำน้ำผลไม้ได้ มีวิตามินซีสูง ช่วยสร้างคอลลาเจน บำรุงผิวพรรณ เปล่งปลั่ง สดใส ผลอ่อนของมะไฟนำไป ปรุงอาหาร สตูว์ ดอง และ หมักทำไวน์
การปลูกและขยายพันธุ์ มะไฟ

มะไฟ เป็นพืชที่ดูแลง่าย ปลูกได้ในดินทุกชนิด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย นิยมขยายพันธุ์ด้วยการ เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และทาบกิ่ง ซึ่งการตอนกิ่งนิยมมากกว่าวิธีอื่นเพราะให้ผลผลิตเร็วกว่า มะไฟสามารถปลูกระบบชิดได้ เพราะมะไฟออกลูกใต้ต้น โคนต้น ไม่ใช่ออกที่ยอด เพราะถ้าออกที่ยอด ต้นไม้จะต้องใช้แสงเยอะ และไม่ควรปลูกชิดกันจนบังแสง การย้ายกล้าพันธุ์ไปปลูกควรปลูกแค่เสมอหลุม จะไม่ปลูกต่ำกว่าหลุมมาก เพราะไม้จะไม่โต เมื่อลงต้นกล้าเสร็จให้รดน้ำให้ชุ่ม เคล็ดลับชาวสวนอีกอย่างคือ ไม่ควรปลูกแต่มะไฟล้วน ๆ ในสวน แต่ควรหากล้วยมาปลูกแซมเพราะจะทำให้ดินสามารถเก็บกักความชุ่มชื้นได้ในชั้นใต้ดินมาก ทำให้ดินมีประสิทธิภาพในการหาอาหารแต่ต้นมะไฟดียิ่งขึ้น มะไฟยังสามารถปลูกในกระถางไซส์ใหญ่ตั้งแต่ 25-30 นิ้วได้ โดยใส่ดินตามปกติเหมือนปลูกพืชทั่วไป
วิธีเพาะเมล็ดมะไฟ
เตรียมดินด้วยการใส่ปุ๋ยคอก แนะนำให้ใช้ดินร่วนปนเหนียวที่มีความชุ่มชื้นพอสมควร จากนั้นนำเอาเมล็ดที่เตรียมไว้ปลูกลงดิน เว้นระยะห่างระหว่างต้นไว้ให้พอดี หรือถ้ามีพื้นที่น้อยก็สามารถปลูกแบบชิดได้
การให้ปุ๋ยมะไฟ
การให้ปุ๋ยต้องให้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยระยะก่อนออกดอก ควรใส่ปุ๋ยตัวกลางสูง เช่น สูตร 10-30-10 เพื่อกระตุ้นการพัฒนาของรากและการผลิดอก แต่เมื่อติดผลแล้วต้องใส่ปุ๋ยสูตรตัวท้ายสูง เช่น สูตร 13-13-21 หรือ 14-14-21 ปุ๋ย ส่วนตัวท้ายคือ โพแทสเซียม ช่วยเร่งกระบวนการเคลื่อนย้ายแป้งและน้ำตาลจากใบและต้นไปยังผล ช่วยให้ผลมีสีสันสวยยิ่งขึ้น
การเก็บเกี่ยวผลผลิตมะไฟ
ใช้กรรไกรตัดขั้วทั้งพวง ระมัดระวังอย่าทำหล่น เพราะอาจทำให้ผลช้ำเสียหายได้
เป็นอย่างไรกันบ้างกับ มะไฟ ผลไม้รสเปรี้ยวหวานมากสรรพคุณที่เรานำมาฝากกันนี้ บอกเลยว่าประโยชน์เยอะจริง ๆ อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อป้องกันการท้องอืด ไม่สบายตัว และอย่าลืมรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อสุขภาพที่ดีด้วยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : เมดไทย, ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพจังหวัดเชียงราย
Leave A Comment