เกษตรผสมผสาน คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไรบ้าง?
เมื่อพูดถึง เกษตรผสมผสาน หลาย ๆ คนต้องเคยได้ยิน และรู้จักกับอย่างแน่นอน เป็นการทำการเกษตรหลาย ๆ อย่างรวมกัน และเกื้อกูลในการผลิตซึ่งกันและกัน โดยการใช้ ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นา เช่น ดิน น้ำ แสงแดดอย่างเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด วันนี้ SGE จะพาไปรู้จักกับ เกษตรผสมผสาน ให้มากขึ้นกัน
เกษตรผสมผสาน คือ?
เป็นระบบการเกษตร ที่มีการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์หลาย ๆ ชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยที่กิจกรรมแต่ละชนิด จะเกื้อกูลกันอย่างเป็นวงจร เช่น อาหาร แร่ธาตุ อากาศ พลังงาน เป็นต้น และก่อให้เกิดประโยชน์ และประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาศัยหลักการอยู่ร่วมกันระหว่าง พืช สัตร์ และสิ่งแวดล้อม
ระบบเกษตรผสมผสาน จะประสบผลสำเร็จได้ จะต้องมีการวางรูปแบบ และดำเนินการโดยให้ความสำคัญต่อกิจกรรมแต่ละชนิดอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพเศรษฐกิจ สังคม มีการใช้แรงงาน เงินทุน ที่ดิน ปัจจัยการรผลิต และทรัพากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนรู้จักนำวัสดุเหลือใช้จากการผลิตชนิดหนึ่ง มาหมุนเวียนใช้ประโยชน์กับการผลิตอีกชนิดหนึ่ง หรือหลายชนิด ภายใต้ไร่นาแบบครบวงจร เช่น การเลี้ยงไก่ หรือสุกรบนบ่อปลา การเลี้ยงปลาในนาข้าว การเลี้ยงผึ้งในสวนผลไม้ เป็นต้น
ลักษณะของเกษตรผสมผสาน มีอะไรบ้าง?
- การปลูกพืชแบบผสมผสาน เช่น ปลูกพืชตระกูลถั่ว เพื่อตรึงไนโตรเจนให้พืชอื่น ๆ ในไร่ ปลูกไม้ยืนต้น เพื่อเป็นร่มเงาให้พืชที่ไม่ชอบแสงแดดจัด หรือปลูกพืชบางชนิด เพื่อป้องกันศัตรูพืช
- การเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน เช่น การเลี้ยงสุกร ไก่ เป็ด ร่วมกับสัตว์น้ำ อย่างปลา เป็นต้น โดยการสร้างโรงเลี้ยงสัตว์ไว้บนบ่อปลา จะทำให้ให้มูลสัตว์ที่เลี้ยงไว้เป็นอาหารให้ปลาได้นั่นเอง
- การปลูกพืชผสมผสานกับการเลี้ยงสัตว์ เช่น ใช้พืชผลที่เหลือเป็นอาหารสัตว์ หรือใช้สัตว์กำจัดศัตรูพืช เช่น เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ดในนาข้าว เพื่อช่วยกำจัดศัตรูพืชในนาข้าวได้
วัตถุประสงค์ของการทำเกษตรผสมผสาน
- เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านรายได้
- เพื่อลดการพึ่งพาด้านเงินทุน ปัจจัยการผลิต และอาหารจากภายนอก
- เพื่อให้เกิดการประหยัดทางขอบข่าย
- เพิ่มรายได้จากพื้นที่เกษตรขนาดย่อยที่จำกัด
- ช่วยเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้เกษตรกรมีความเป็นอิสระในการดำรงชีวิต
การแบ่งสัดส่วนเกษตรผสมผสาน
เกษตรแบบผสมผสาน เป็นแนวทาง หรือหลักในการบริหารจัดการ ที่ดิน และน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็ก ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรินี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร การจัดการพื้นที่แบ่งได้เป็น 4 ส่วน คือ 30:30:30:10 ดังนี้
- ขุดสระเก็บกักน้ำ พื้นที่ประมาณ 30% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้ สม่ำเสมอตลอดปี โดยเก็บกักน้ำฝนในฤดูฝน และใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง หรือระยะฝนทิ้งช่วง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์ และพืชน้ำต่างๆ เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด โสน ฯลฯ
- ปลูกข้าว พื้นที่ประมาณ 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันสำหรับครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี โดยไม่ต้องซื้อหาในราคาแพง เป็นการลดค่าใช้จ่าย และสามารพึ่งตนเองได้
- ปลูกผลไม้ ไม้ยืนต้น พืชไร่ พืชผัก พื้นที่ประมาณ 30% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชไร่ พืชผัก พืชสมุนไพร ฯลฯ อย่างผสมผสานกัน และหลากหลายในพื้นที่เดียวกัน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือจากการบริโภคก็นำไปขายได้
- ที่อยู่อาศัย และอื่น ๆ พื้นที่ประมาณ 10% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนนหนทาง คันดิน โรงเรือนและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ รวมทั้งคอกเลี้ยงสัตว์ เรือนเพาะชำ ฉางเก็บผลิตผลการเกษตร ฯลฯ นี่เป็นทฤษฎีปฏิบัติจริง พื้นที่เป็นนาทั้งหมดหรือไร่สวนด้วย
ประโยชน์ของการทำเกษตรผสมผสาน
- ลดความเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพลม ฟ้า อากาศ การระบาดของโรคพืช และศัตรูพืช
- ลดความเสี่ยงจากความผันแปรของราคาผลผลิต
- ช่วยลดรายจ่ายภายในครัวเรือน ช่วยเพิ่มรายได้ และกระจายรายได้ตลอดปี
- ช่วยก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวพันธุ์
- ช่วยกระจายการใช้แรงงาน ทำให้มีงานทำตลอดปี
- ช่วยก่อให้เกิดการหมุนเวียน (Recycling) ของกิจกรรมต่าง ๆ
- ช่วยให้เกษตรกร มีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคภายในครัวเรือน
- ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น
จบไปแล้วกับ ระบบเกษตรผสมผสาน ที่เรานำมาฝากกัน คงทำให้หลาย ๆ รู้จักกับการทำเกษตรด้านนี้มากขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม หากใครอยากลองทำก็สามารถทำได้ อาจจะเริ่มจากจุดเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ ขยายขึ้นก็ได้ หรือจะปรึกษาคนที่มีความรู้ มีประสบการณ์ก็ดีไม่น้อย รับรองว่า เกษตรผสมผสานของคุณจะต้องออกมาสำเร็จอย่างแน่นอน
บทความดี ๆ น่าอ่าน:
อ้างอิงข้อมูลจาก tuemaster.com
30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน