ต้นมะรุม เป็นพืชผักพื้นบ้าน ที่ปลูกกันแพร่หลายทั่วไป ตามริมรั้ว เป็นสมุนไพรท้องถิ่น นิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจาก ทั้งส่วนยอดอ่อน ใบสด ผลอ่อน และผลแก่ สามารถใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง ตาม SGE ไปรู้จักกับ มะรุม ให้มากขึ้นกัน
มะรุม คือ?
เป็นพืชผักพื้นบ้านชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชีย มีมากที่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา มีไปจนถึงแถบเอเชียไมเนอร์ และแอฟริกา เป็นไม้ที่ปลูกง่ายในดินทุกชนิด ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และปักชำกิ่ง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- ต้นมะรุม
มะรุมเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีอายุนานหลายปี ลำต้นมีลักษณะเพลาตรง สูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งน้อย แลดูเป็นทรงพุ่มโปร่ง เปลือกลำต้น มีสีขาวอมเทา มีตุ่มขนาดเล็กขึ้นกระจายทั่ว เนื้อไม้จัดเป็นไม้เนื้ออ่อน มีสีเหลือง เบา กิ่งมีลักษณะเพลาตรง เนื้อไม้ของกิ่งเปราะหักง่าย
- ใบมะรุม
ใบมะรุม ออกเป็นใบประกอบแบบขนนกชนิดที่แตกใบย่อย 3 ชั้น ยาว 20-40 เซนติเมตร ออกเรียงสลับใบย่อยยาว 1-3 เซนติเมตร รูปไข่ ปลายใบ และฐานใบมน ผิวใบด้านล่างสีอ่อนกว่า ใบอ่อนมีขนเล็กน้อย ดอกออกเป็นช่อสีขาว ใบอ่อน มีแผ่นใบด้านบนมีสีเขียวสด แผ่นใบด้านล่างสีซีดกว่า ส่วนใบแก่ จะมีสีเขียวเข้ม ทั้งนี้ แผ่นใบทั้งใบแก่และใบอ่อน มีลักษณะอ่อนนุ่ม มีรสมัน
- ดอกมะรุม
มะรุมออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง หรือบริเวณตายอด ตามกิ่ง และลำต้น แต่ส่วนมาก จะพบออกบริเวณปลายกิ่งเป็นหลัก ประกอบด้วย ก้านช่อดอกหลัก ที่มีก้านช่อดอกย่อยออก เยื้องสลับกัน ตามความยาวของก้าน ช่อดอกหลัก บนก้านช่อดอกย่อยประกอบด้วย ดอกย่อยจำนวนหลายดอก
- ผลมะรุม
ผลมะรุม เรียกว่า ฝัก มีลักษณะเป็นแท่ง ค่อนข้างกลม ยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร ขั้วผลกว้างมน ท้ายผลแหลม ผลอ่อนมีเปลือกผลสีเขียว มีลักษณะเป็นร่องชัดเจนบิดโค้งเล็กน้อยตามความยาวของฝัก เนื้อฝักแน่นและกรอบ เมล็ดด้านในยังอ่อน
- ฝักแก่ จะมีเปลือกผลเหนียว สีเขียวเข้ม มีลักษณะเป็นเหลี่ยม และมองเห็นเป็นร่องตื้น ๆ บนฝัก นอกจากนั้น เปลือกผล ยังมีลักษณะนูนสลับกันตรงจุดที่มีเมล็ด ทั้งนี้ เมื่อผลแก่จัด ผลจะแห้ง เปลี่ยนเป็นสีขาวอมเทา และปริแตก ทำให้เมล็ดหล่นลงพื้นได้
- ส่วนเมล็ดมะรุม จะอยู่ด้านในฝัก เมล็ดในฝักอ่อน จะมีขนาดเล็ก และอ่อนนุ่ม เมล็ดในฝักแก่ จะมีขนาดใหญ่ เปลือกเมล็ดมีลักษณะกรอบ มีรสหวานมัน สามารถรับประทานได้ แต่หากเมล็ดในฝักแก่ จะมีสีน้ำตาล ขนาดเมล็ดประมาณ 1 เซนติเมตร เปลือกเมล็ดแข็ง มีปีกบาง ๆ สีขาวหุ้ม 3 ปีก ส่วนจำนวนเมล็ด จะขึ้นอยู่กับความยาวของฝัก ซึ่งอาจพบเมล็ดได้กว่า 10-20 เมล็ด
สรรพคุณ และประโยชน์ของมะรุม
สรรพคุณทางยา
- ราก : ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ, ช่วยขับลม, แก้อาการปวดข้อ แก้ข้ออักเสบ, แก้โรคท้องมาน
- ลำต้น และเปลือกลำต้น : ใช้เป็นยาขับลม ช่วยควบคุมธาตุอ่อน, ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ, แก้ฝีตามร่างกายต่าง ๆ, ช่วยแก้อาการไอ แก้อาการหอบหืด, ใช้เป็นยาแก้กระสาย
- ยอดอ่อน และใบสด : ช่วยรักษาอาการของโรคตับ และม้ามต่าง ๆ, ช่วยขับนิ่วในไต
- ดอก : ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจม, ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ, ช่วยลดพิษ จากการรับประทานหอยมีพิษบางชนิด เช่น พิษของหอยทะเล
- ฝัก และเมล็ด : ช่วยบรรเทาอาการไข้, แก้อาการขัดเบา
- น้ำมันมะรุม : ใช้ปรุงเป็นยาแก้ไข้, ใช้เป็นยาทาภายนอก, แก้อาการฟกช้ำดำเขียว, แก้อาการปวดข้อ, แก้โรครูมาติซัม
ประโยชน์ด้านอาหาร
- ยอดอ่อน และใบสด มีความนุ่ม มีรสมัน ใช้รับประทานสด หรือลวก หรือต้มสุก ใช้รับประทานคู่กับกับข้าว เช่น น้ำพริก แจ่วบอง เมนูลาบ ซุปหน่อไม้ เป็นต้น ใช้ประกอบอาหารในหลายเมนู เช่น ผัดผัก ผัดใส่ไข่ แกงอ่อม แกงเลียง และแกงจืด เป็นต้น หรือจะนำมาดอง เป็นผักดอง ใช้รับประทานคู่กับกับข้าวได้
- ฝักอ่อน ไม่ต้องลอกเปลือก นำมารับประทานสด หรือต้มสุกคู่กับกับข้าวได้
- ฝักแก่ นำมาปอกเปลือกด้านนอกออก ให้เหลือเฉพาะเนื้อเปลือก และเมล็ด นำมาประกอบอาหารหลายเมนู ด้วยการหั่นเป็นชิ้น ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร เช่น แกงส้ม ซึ่งนิยมมากที่สุด ทางภาคกลาง
- ทั้งยอดอ่อน และใบสด นำมาตากแห้ง เพื่อแปรรูปเป็นผงใบมะรุม สำหรับชงเป็นชาดื่ม หรือแปรรูปเป็น น้ำผักใบมะรุม ดื่มก็ได้

ประโยชน์ด้านสมุนไพร ความงาม และยารักษาโรค
- ยอดอ่อน และใบสด นำมาตากแห้ง ใช้ชงเป็นชาดื่ม ช่วยบรรเทา และรักษาโรคหลายด้าน
- เมล็ด นำมาสกัดน้ำมัน สำหรับใช้เป็นยาทารักษาภายานอก เช่น แก้อาการฟกช้ำ รวมถึงนำน้ำมัน มาเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางหลายชนิด
- สารสกัดจากใบ ดอก และเมล็ด นำมาใช้เป็นยา หรือสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งใช้ในรูปของการรับประทาน และใช้ในรูปของเครื่องสำอาง สำหรับทาผิวภายนอก เช่น ครีมช่วยลดริ้วรอย และครีมบำรุงผิว เป็นต้น
ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม
- ยอดอ่อน และใบสด นำมาตากแห้ง และใช้ผสมในอาหารสัตว์ ทั้งสุกร เป็ด ไก่ และโคกระบือ
- กากจากเมล็ดมะรุม หรือเมล็ดมะรุม ใช้ผสมในอาหารสัตว์ เพื่อเป็นแหล่งโปรตีน และพลังงาน
ประโยชน์ด้านการใช้สอยในครัวเรือน
- กิ่ง และเนื้อไม้จากลำต้น ใช้เป็นไม้ฟืน หุงต้มอาหารได้
- กิ่ง สามารถนำมาปักชำ เป็นแถวยาว ใช้ปักชำให้แตกต้นใหม่ เพื่อเป็นแนวรั้วของบ้าน หรือตามไร่นา ซึ่งจะได้ยอดอ่อนเก็บรับประทานได้ด้วย
สร้างเสริมรายได้
ยอดอ่อน และใบสดของมะรุม ถือได้ว่าเป็นผักพื้นบ้านที่นิยมในระดับต้น ๆ เพราะให้รสมันอร่อย ใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิด จึงพบเห็นการขายยอดมะรุมในทุก ๆ ตลาดทั่วทุกจังหวัด ทำให้เป็นรายได้เสริมในครัวเรือน ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีการพัฒนาปลูกมะรุม เพื่อการค้าเป็นหลักในหลายพื้นที่ด้วย
การปลูกมะรุม ทำได้อย่างไรบ้าง?
ต้นมะรุม สามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ด และการปักชำ

1. การเพาะเมล็ด
การเพาะเมล็ดจนได้ต้นกล้า วิธีนี้ เป็นที่นิยมเช่นกัน แต่หากปลูกเพื่อการค้า จะไม่เป็นที่นิยมนัก เนื่องจากลำต้นสูงใหญ่ แต่มีวิธีทำให้ต้น เล็ก และเก็บยอดได้ต่อเนื่องเช่นกัน การเพาะต้นกล้าจากเมล็ด ทำได้โดย
- นำเมล็ดจากฝักแก่ที่แห้งแล้วมาเพาะเมล็ด ทั้งอาจเพาะลงถุงเพาะชำโดยตรง หรือเพาะเมล็ดลงแปลงเพาะก่อน
- ใช้ดินร่วนผสมกับแกลบดำ หรือปุ๋ยคอก อัตราส่วน 1:2 แล้วบรรจุใส่ถุงเพาะชำ ขนาด 4×6 นิ้ว
- นำเมล็ดมะรุม หยอดลงหลุมลึก ประมาณ 1 นิ้ว จำนวน 1-2 เมล็ด แล้วรดน้ำให้ดินชุ่ม และรดทุกวัน วันละ 1 ครั้ง
- จากนั้น 7-10 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก และหลังเมล็ดงอกประมาณ 50-60 วัน ก็พร้อมนำต้นกล้าลงแปลงปลูกได้
2. การปักชำกิ่ง
การปักชำกิ่ง เป็นวิธีขยายพันธุ์ และใช้ปลูกที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน และเป็นวิธีปลูกที่พัฒนา เพื่อการจำหน่ายยอดเป็นหลัก เนื่องจาก สามารถทำได้ง่าย สะดวก และประหยัดเวลา สามารถเก็บยอดอ่อนรับประทาน หรือจำหน่ายได้ภายในไม่กี่เดือน การปักชำกิ่ง สามารถปักชำลงถุงเพาะชำก่อนหรือปักชำลงแปลงปลูกที่เตรียมดินไว้แล้วก็ได้เช่นกัน ทำได้โดย
- คัดเลือกกิ่งพันธุ์ มะรุม ขนาดประมาณ 2-10 เซนติเมตร ตัดยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร
- จากนั้น ปักลงถุงเพาะชำ หรือแปลงปลูกในแนวตรง ปักลึกประมาณ 10 เซนติเมตร
- รดน้ำ และดูแลต่อเนื่อง ซึ่ง ต้นมะรุม จะเริ่มแตกยอดใหม่ ประมาณ 20-30 วัน
อ่านบทความ : รู้จัก การปักชำ ขยายพันธุ์พืชง่าย ๆ ใคร ๆ ก็ทำได้
การปลูกลงแปลง ให้ปลูกเป็นแถวในระยะระหว่างต้นในช่วง 50-60 เซนติเมตร เว้นระยะระหว่างแถว ประมาณ 1.5-2 เมตร หรือสามารถเว้นให้เดินได้ระหว่างแถว และอาจปลูกเป็นแถวคู่ หรือแถวสาม และเว้นช่องทางเดิน ก็ได้เช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก : technologychaoban.com, puechkaset.com
Leave A Comment